กรมสุขภาพจิต แนะพ่อแม่ คนใกล้ชิด จับตาดูบุตรหลาน หวั่นเกิดพฤติกรรม Copycat Suicide
logo ข่าวอัพเดท

กรมสุขภาพจิต แนะพ่อแม่ คนใกล้ชิด จับตาดูบุตรหลาน หวั่นเกิดพฤติกรรม Copycat Suicide

9,688 ครั้ง
|
19 ธ.ค. 2560
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก จำนวนกว่า 8 แสนคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน สำหรับความกังวลเป็นห่วงแฟนคลับ หวั่นเกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบคนดัง หรือ Copycat Suicide  ในเมืองไทย นั้น  การเลียนแบบจะไม่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีความคิดฆ่าตัวตายอยู่ก่อน แต่สำหรับคนที่คิดฆ่าตัวตายอยู่แล้ว อาจจะทำให้เห็นช่องทางหรือวิธีการที่จะฆ่าตัวตายมากขึ้น ถ้าบุคคลที่ฆ่าตัวตายมีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในสังคม จะมีผลให้คนมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายตามได้ ทั้งนี้ ต้องดูความเปราะบางด้านจิตใจ หรือผูกพันกับผู้ตายขนาดไหน ผูกพันมากก็ทำให้หวั่นไหวตามมาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในเมืองไทยกระแสการฆ่าตัวตายเลียนแบบบุคคลมีชื่อเสียงจะยังมีไม่มากนัก ก็ไม่ควรชะล่าใจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องระวัง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดขึ้น อย่างสื่อเอง ในการพาดหัวหรือการแจงรายละเอียดการฆ่าตัวตายก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะหากบรรยายมากเกินไปอาจเกิดผลกระทบได้ แต่ให้เน้นไปที่แนวทางการป้องกัน ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายให้มากขึ้น 
 
ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากลูกหลานมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงก็ต้องใส่ใจ ซักถาม และทำความเข้าใจ เช่น ร้องไห้บ่อย เก็บตัว ไม่พูด เหม่อลอย บางครั้งจะพูดถึงเรื่องฆ่าตัวตาย บ่นไม่อยากมีชีวิต ชีวิตไม่มีคุณค่า เป็นต้น สัญญาณเตือนเหล่านี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ หมั่นสังเกตเด็กในปกครอง อย่าคิดว่าเป็นการพูดเล่น เพราะนั่นเท่ากับปล่อยโอกาสการช่วยเหลือให้ลดน้อยลงทุกที  รวมไปถึงต้องดูแลเด็กที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้วอย่างใกล้ชิด เพราะโอกาสที่จะกลับไป    ฆ่าตัวตายซ้ำมีมาก และโอกาสที่จะทำสำเร็จก็มีมากเช่นกัน แม้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ควรป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด
 
สำหรับแฟนคลับ ก็ขอให้ชื่นชมในความสามารถของบุคคลนั้น การฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางออกของปัญหา ขอให้มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์  มองเป็นบทเรียน ไม่มีใครอยากฆ่าตัวตาย และคงไม่หวังที่จะให้คนอื่นฆ่าตัวตายตาม การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ส่วนภาวะซึมเศร้าก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นกัน หากเกิดภาวะซึมเศร้า คิดสั้น ทำใจไม่ได้ ให้พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่ง การปรึกษาจิตแพทย์ไม่จำเป็นว่าต้องป่วย ทุกคนสามารถปรึกษาเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว 
 
 ด้าน นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวเสริมว่า อัตราการฆ่าตัวตายล่าสุด ของคนไทย    ปี 2559 อยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ลดลงจากปี 2558 ที่มีอัตรา 6.47 ต่อประชากรแสนคน โดยช่วงอายุ 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด ขอย้ำว่า ปัญหาการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งทุกคนสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายลงได้ สัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย เช่น เวลาพูด มีน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ พูดเปรยๆ ว่า อยากตาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่เดิม ประสบปัญหาชีวิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ทั้งนี้ คนรอบข้างสามารถช่วยได้ โดย การใส่ใจ รับฟัง พูดคุยเป็นเพื่อน แม้กระทั่ง การกล่าวคำว่า ขอบคุณ เพื่อให้เขากล้าที่จะบอกความรู้สึกทุกข์ทรมานใจและกล้าที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง แต่ หากไม่ดีขึ้น  ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันดูแลส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
 
โดยสามารถโทรมาปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ ตลอดจน สามารถประเมินภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง พร้อมรับแนวทางการช่วยเหลือได้ที่ แอพลิเคชั่น Sabaijai ดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งระบบ android และ ios 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง