พยาบาลเมืองสกลนคร รวมตัวยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม เพื่อส่งต่อไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องสิทธิที่พึงได้ โดยเฉพาะการนับอายุราชการ และความเหลื่อมล้ำของรุ่นพี่รุ่นน้อง ทั้งที่เป็นพยาบาลเช่นกัน
เมื่อเวลา 10.30 น. (15 ธ.ค.60) นางสาว กิ่งฟ้า สารีนัน พยาบาลวิชาการชีพชำนาญการ รพ.นิคมน้ำอูน พร้อมด้วยพยาบาลร่วมอาชีพกว่า 30 คน เดินทางเข้าพบ นางสาวหงษ์ทอง อภิวงศ์ปัญญา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสกลนคร เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยนางสาว กิ่งฟ้า สารีนัน พยาบาลวิชาการชีพชำนาญการ ระบุว่า 17 ปี แห่งการลอยแพอดีตพนักงานของรัฐ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สูญสิ้นทั้งอายุราชการ และ ความเหลื่อมล้ำจากการเยียวยา จากนโยบายคุมกำเนิดข้าราชการของรัฐบาล ในปี 2543 กระทบต่อกระทรวงสาธารณสุข ต้องเลือกบรรจุเฉพาะในวิชาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ ปล่อยลอยแพนักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุขที่ จบ การศึกษาในปี พ.ศ.2543 จนเกิดปรากฏการ “ม็อบคุณหนู” ในปีนั้น
ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบให้มีการจ้างงานประเภทใหม่เรียกว่า “พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวง สาธารณสุข” ความหมายว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐอีกประเภทหนึ่ง รับเงินเดือนจากงบประมาณ หมวดเงินเดือน เช่น แพทย์ เหมือนข้าราชการทุกประการ แต่ไม่นับอายุราชการ จนเมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติบรรจุและ แต่งตั้งพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ แต่ไม่ได้มีการนับระยะเวลา การปฏิบัติงาน ในช่วงเป็นพนักงานของรัฐฯ (ก่อนการบรรจุ) มาคำนวณในสิทธิประโยชน์กองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่อย่างใด ทั้งๆที่พนักงานของรัฐฯทุกคน ได้รับการปฏิบัติเหมือนข้าราชการพลเรือนสามัญทุกประการ
ความไม่เป็นธรรมครั้งที่ 2 เมื่อสำนักงาน ก.พ.และคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ ให้พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับ ราชการในกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ 1.ระยะที่ 1 การกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ให้พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับ ราชการ ตั้งแต่ วันที่ 11 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป 2.ระยะที่ 2 การกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุ เข้ารับราชการ ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1012.2/250 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบ ตามหนังสือ ที่ สธ 0208.09/18624 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560
ใน 2 ประเด็น คือ 1.การได้รับเงินเดือนระหว่าง 1.ข้าราชการปกติ 2.พนักงานของรัฐฯ 3.กลุ่มที่ได้รับการเยียวยา ที่มีอายุงาน/อายุราชการใกล้เคียงกัน และตำแหน่งประเภทเดียวกัน เปรียบเทียบเงินเดือน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2559 พบว่า เงินเดือน ข้าราชการที่ได้เยียวยา เงินเดือนมากกว่า ข้าราชการปกติ 6,100 บาท ข้าราชการที่ได้เยียวยา เงินเดือนมากกว่า พนักงานของรัฐฯ 7,800 บาท 2.เปรียบเทียบกรณีอายุงาน/อายุราชการที่แตกต่างกัน แต่ได้รับเงินเดือนใกล้เคียงกัน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 พบว่า อายุราชการ ข้าราชการปกติ อายุราชการมากกว่า พนักงานของรัฐฯ 3 ปี 8 เดือน พนักงานของรัฐฯ อายุราชการมากกว่า ข้าราชการที่ได้เยียวยา 5 ปี
จนถึงวันนี้ ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น กลับยิ่งสร้างความ เหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ทำลายระบบธรรมมาภิบาล และ สร้างความแตกแยก ความไม่สามัคคี ในองค์กร เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุและปัจจัยดังกล่าวนี้ ทางชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2543- 2546 จึงได้ออกมายื่นหนังสือสมุดปกขาว ขอความเป็นธรรม ณ ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเรียนไปยัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่ง ดำเนินการ คืนความเป็นธรรมแก่อดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ข้อ คือ 1.ขอให้มีการแก้กฎหมายเพื่อนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐเพื่อค้านวนบำเหน็จบำนาญ 2. ทบทวนการเยียวยาเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ พยาบาลที่มาร่วมยื่นหนังสือ ต่างกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหวถึงความรู้สึกที่อัดอั้นมานาน เนื่องจากถูกลอยแพมาอย่างยาวนานถึง 17 ปี ที่ผ่านมาพยาบาลทุกคนต่างทุ่มเทและทำหน้าที่อย่างไม่หยุดหย่อน จนเวลาส่วนตัวแทบไม่มี แต่ความเป็นธรรมที่ได้รับกลับถูกปล่อยปละะละเลยอย่างไร้จุดหมาย คนจบมาใหม่กลับมีสวัสดิการดีกว่า คนที่อายุข้าราชการเยอะกว่า ใน จ.สกลนคร มีจำนวน 211 คน จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาด้วย ภายหลังรับเรื่อง นางสาวหงษ์ทอง อภิวงศ์ปัญญา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสกลนคร จะนำเรียน นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อนำเรื่องส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป.
+ อ่านเพิ่มเติม