ใจกลางเมืองเก่าของโลซานน์ มีสถานที่หนึ่งที่ถือเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปวิทยาการของเมืองโลซานน์ คือ ปาเล เดอ รูมีน
อาคารโบราณอายุ 112 ปีหลังนี้ นอกจากภายนอกจะดูหรูหราด้วยสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรเนอซองส์ ภายในยังอัดแน่นด้วยพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดสาธารณะ ที่รวบรวมศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆไว้มากมาย ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สัตววิทยา และวิจิตรศิลป์
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 70 ปีที่แล้ว อาคารหลังนี้คือส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยโลซานน์ ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพิงความรู้ไม่ต่างจากปัจจุบัน นักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่าที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ล้วนประสบความสำเร็จและมีบทบาทต่อสังคมในด้านต่างๆ รวมไปถึงนักศึกษาคนสำคัญจากประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่แผนกจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยโลซานน์ วิทยาเขตดอริกนีย์ เอกสารการลงทะเบียนเรียนฉบับจริงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมาชิกครอบครัวราชสกุลมหิดลทั้งหมดถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดี
พ.ศ.2488 ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอันดับ 1 ต่อมาในปี พ.ศ.2490 จึงได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์แทน เพื่อเตรียมพร้อมสู่การปฏิบัติพระราชกรณียกิจในอนาคต ในฐานะพระมหากษัตริย์
หากในความเป็นจริงแล้ว วิชาพระมหากษัตริย์คือศาสตร์ทุกแขนงที่เกี่ยวพันกันในทุกๆแง่มุมของประเทศ ซึ่งพระองค์ต้องทรงเรียนรู้และทำความเข้าใจด้วยพระองค์เอง
ทรงศึกษาจนรู้จริงในทุกๆเรื่องที่ทรงงาน เพราะประเทศไม่สามารถหยุดพัฒนาได้ พระราชภารกิจตลอดพระชนม์ชีพ จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นนักศึกษาหลักสูตรพระราชาที่ไม่มีวันหยุด ตราบสิ้นลมหายใจ
ร่วมย้อนความทรงจำกับสารคดีเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนที่ 26 : หลักสูตรพระราชา ได้จากวิดีโอด้านล่างนี้
+ อ่านเพิ่มเติม