แนวคิดการสร้างความมั่นคงของประเทศ ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ถือเป็นภารกิจหลักในการพัฒนาชาติ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชปณิธานไว้ตั้งแต่ต้นรัชกาล
พระประสบการณ์ตลอดช่วงวัยเยาว์ในสววิตเซอร์แลนด์ ทำให้ทรงคุ้นเคยกับแผ่นดินเล็กๆ ที่ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญแหล่งหนึ่งในทวีปยุโรป
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อาหารที่บริโภคในสวิตเซอร์แลนด์กว่าครึ่งหนึ่ง ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เมื่อสงครามอุบัติขึ้น สวิตเซอร์แลนด์กลับเป็นประเทศที่พึ่งพาตนเองได้ และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในยุโรปที่ไม่ต้องปันส่วนอาหาร ในช่วงเวลานั้นสมเด็จย่า พระโอรสและพระธิดายังประทับอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ และร่วมประสบการณ์ชีวิตท่ามกลางความขัดสนจากสถานการณ์สงคราม
สวิตเซอร์แลนด์ประกาศสงครามกับความอดอยากอย่างจริงจัง ด้วยนโยบายวาเลนแพลน จากแนวคิดของนายวาเลน ที่ปรึกษารัฐบาล ที่เชื่อว่าหากสวิตเซอร์แลนด์จะผ่านความลำบากจากสงครามได้ ประเทศต้องผลิตอาหารเองได้ และอาหารจะต้องงอกเงยขึ้นได้จากทุกพื้นที่
วาเลนแพลนได้เปลี่ยนทุกที่ที่เป็นดิน ทั้งในสวนหน้าบ้าน สวนสาธารณะ หรือพื้นที่ข้างถนน ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตร และยังกระตุ้นให้พลเมืองทุกคนเพาะปลูกอาหารเพื่อทานเองในครอบครัว หลังสงคราม สวิตเซอร์แลนด์สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้ถึงสามเท่า ความสำเร็จในการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของสวิส กลายเป็นต้นแบบที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัติพระนครและเสด็จพระราชดำเนินไปสัมผัสแผ่นดินไทยทุกภูมิภาค ทรงพบว่าหากทรงช่วยให้ประชาชนมีข้าวปลาอาหารที่ดี คนไทยจะมีสุขภาพแข็งแรง และเมื่อคนกินดีอยู่ดี ก็จะสามารถพัฒนาประเทศได้โดยง่าย เหตุนี้ จึงทรงตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นผู้สร้างอาหารว่าจะนำพาประเทศให้สามารถยืนหยัดและพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง เฉกเช่นประเทศสวิตเซอร์แลนด์
จากขุนเขา สู่ที่ราบสูง มาถึงลุ่มแม่น้ำ จรดชายฝั่งทะเล โครงการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนทั่วประเทศ เพราะความมั่นคงทางอาหาร คือรากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
ร่วมย้อนความทรงจำกับสารคดีเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนที่ 20 : ความมั่นคงทางอาหาร ได้จากวิดีโอด้านล่างนี้
+ อ่านเพิ่มเติม