"พ่อ, รัก, ลูก, ตลอดไป" ร่วมโผคำที่คนไทยใช้มากที่สุดบนทวิตเตอร์ในวันสวรรคต ร.9
logo ข่าวอัพเดท

"พ่อ, รัก, ลูก, ตลอดไป" ร่วมโผคำที่คนไทยใช้มากที่สุดบนทวิตเตอร์ในวันสวรรคต ร.9

ข่าวอัพเดท : ผศ.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยระหว่างการเสวนา สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ ความผูกพันของคนไท ทวิตเตอร์,สุกรี สินธุภิญโญ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,คำ,พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

4,845 ครั้ง
|
12 ต.ค. 2560
ผศ.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยระหว่างการเสวนา "สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ ความผูกพันของคนไทย จากสมเด็จย่าสู่ในหลวงรัชกาลที่ 9" ที่จัดขึ้นที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ถึงผลวิจัยความนิยมในการใช้คำต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ในช่วงวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 
การวิจัยนี้เป็นผลงานของนางสาวอารยา พุดตาล ใช้การดึงข้อมูลระหว่างตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา ผ่านทวิตเตอร์เป็นหลัก
 
พบว่าวันที่ 13 ตุลาคม แฮชแท็กที่ถูกทวีตมากที่สุด คือคำว่า "เรารักในหลวง" มีมากกว่า 10 ล้านรีทวีต ซึ่งมีการรีทวีตมากที่สุดในเวลา 20.00 น. หลังมีประกาศสำนักพระราชวังได้เพียง 1 ชั่วโมง รองลงมาก็คือแฮชแท็ก "ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป"
 
ต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งผศ.สุกรีระบุว่า เป็นช่วงที่คนไทยกำลังเล่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพระองค์ แฮชแท็กที่ถูกรีทวีตสูงที่สุด คือคำว่า "KingBhumibol" ตามมาด้วยคำว่า "ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป" เช่นกัน
 
นอกจากนี้ ในทวิตเตอร์ มีเหตุการณ์ย่อยอื่นๆเกิดขึ้นอีกเป็นเทรนด์ในโลกออนไลน์ เช่น วันที่ 22 ตุลาคม 2559 จะมีการใช้คำว่า "สรรเสริญพระบารมี" ปรากฎเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก เหตุเพราะวันนั้นมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ท้องสนามหลวง หรือเหตุการณ์อื่นๆที่ปรากฎขึ้นมาเป็นพิเศษเป็นครั้งคราว อาทิ การแปรอักษรตามที่ต่างๆ ควาญช้างที่มาแสดงความอาลัย เป็นต้น
 
และเมื่อวิจัยลงลึกไปถึงคำที่ผู้เล่นทวิตเตอร์ชาวไทยใช้กันมากในช่วงนั้น จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม กลุ่มแรกประกอบด้วยคำว่า "เทวดา, สวรรค์, สู่, กลับ, บน, เสด็จ, สวรรคาลัย, ท่าน, พ่อ" ซึ่งคำในกลุ่มนี้แทนความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 กลุ่มต่อมาคือกลุ่มคำที่เกิดขึ้นในการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ประกอบด้วย "สนามหลวง, สรรเสริญ, จุดเทียน, ร้อง, 22"
 
ส่วนกลุ่มที่ 3-5 จะแสดงความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยกลุ่มที่ 3 ประกอบด้วยคำว่า "พ่อ, รัก, ลูก, ตลอดไป, หนึ่ง, ท่าน, อยู่ในใจ, คนไทย, ทุกคน" กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วยคำว่า "ในหลวง, พระองค์, ทรง, ท่าน, วันนี้, ใจ, ร้องไห้" และกลุ่มที่ 5 ประกอบด้วยคำว่า "เกิด, ภูมิใจ, รัชกาลที่ 9, ลูก, แผ่นดิน, คนไทย, โชคดี"
 
ผศ.สุกรีมองว่า งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งแรกของไทยที่โซเชียลมีเดียได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบันทึก และเหตุการณ์นี้เป็นแบบแผนการแสดงออกที่ไม่เคยปรากฎที่ใดในโลกมาก่อน ทั้งนี้ ผลการวิจัยนี้ควรได้ศึกษาต่อไปว่า คำต่างๆ ที่มีการใช้ มีความสัมพันธ์กับอารมณ์ ความรู้สึกของคนไทยในช่วงนั้นๆ อย่างไรด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง