เมื่อวานนี้ (4 ตุลาคม 2560) เวลา 14.00 น. คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ศูนย์สื่อมวลชนงานพระราชพิธีฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ยังมีข้อสงสัย และเรื่องที่ประชาชนควรรู้
ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์ได้ส่งผู้สื่อข่าวเข้าฟังการแถลงข่าว และสรุป "10 ประเด็นที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 25-29 ตุลาคม 2560" ในรูปแบบคำถาม-คำตอบ ดังต่อไปนี้
ถาม : หมายกำหนดการพระราชพิธี และกำหนดการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ประชาชนถวายดอกไม้จันทน์เวลาใด?
ตอบ : หมายกำหนดการพระราชพิธี กำหนดการที่เกี่ยวข้อง และช่วงเวลาถวายดอกไม้จันทน์เป็นดังนี้
วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2560 |
วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 โดยเริ่มจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อไปยังพลับพลายก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปยังถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน เข้าสู่ถนนตัดกลางสนามหลวง หน้าพลับพลายก และสิ้นสุดที่พระเมรุมาศ (เวลา 09.00 – 16.00 น. เปิดให้ประชาชนเข้าถวายดอกไม้จันทน์ได้เป็นรอบแรก)
เวลา 17.30 น. ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง (เวลา 18.30 – 22.00 น. เปิดให้ประชาชนเข้าถวายดอกไม้จันทน์ได้เป็นรอบสุดท้าย)
เวลา 22.00 น. ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง (พร้อมการแสดงมหรสพสมโภช 3 เวทีในท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 23.00 น. จนถึง 06.00 น. วันรุ่งขึ้น) |
วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560 โดยเริ่มจากพระจิตกาธานที่พระเมรุมาศ ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง |
วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2560 |
วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2560
เวลา 10.30 น. เลี้ยงพระ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เวลา 17.30 น. บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ณ วัดราชพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร |
ถาม : ช่วงพระราชพิธีจะมีการปิดการจราจรอย่างไรบ้าง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ?
ตอบ : - วันซ้อมพระราชพิธีในวันที่ 7, 15 และ 21 ตุลาคม 2560 มีการปิดการจราจรทางบกใน 13 เส้นทางในกรุงเทพมหานคร ส่วนวันพระราชพิธีจริง 25-29 ตุลาคม 2560 มีการปิดการจราจรทางบกใน 18 เส้นทางในกรุงเทพมหานคร และปิดการจราจรทางน้ำระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2560 รายละเอียดเส้นทางที่จะปิดการจราจรทั้งทางบกและทางน้ำ อ่านได้ในข่าวนี้ คลิกที่นี่
- การจราจรทางอากาศ มีการจัดเตรียมแผนการจราจรไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการขึ้นลงของเที่ยวบินของแขกสำคัญในพระราชพิธีจะไม่กระทบกับการบินภาคปกติ
ถาม : สถานที่ถวายดอกไม้จันทน์มีที่ใดบ้าง?
ตอบ : - ในกรุงเทพมหานคร มีสถานที่ถวายดอกไม้จันทน์รวม 113 แห่ง ประกอบด้วย พระเมรุมาศจำลอง 9 แห่ง ได้แก่ พระลานพระราชวังดุสิต, พระปฐมบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ 1 ที่สะพานพุทธ, อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเก่า, สวนนาคราภิรมย์, ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร, พุทธมณฑล, ไบเทค บางนา, สนามกีฬาธูปะเคมีย์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นอกจากนี้ ยังมีซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ขนาดใหญ่ 16 จุด, ขนาดกลาง 26 จุด และขนาดเล็กใน 49 เขตอีก 62 จุด
- ในจังหวัดอื่นๆ มีสถานที่ถวายดอกไม้จันทน์รวม 878 แห่ง ประกอบด้วย พระเมรุมาศจำลอง 76 แห่ง, ซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ขนาดกลาง 617 จุด และขนาดเล็ก 185 จุด
- ในต่างประเทศ มีสถานที่ถวายดอกไม้จันทน์รวม 96 แห่งทั่วโลก ประกอบด้วย วัด สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล สวน อาคาร และหอประชุม
(ภาพจากสำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี)
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสถานที่ถวายดอกไม้จันทน์ใกล้บ้านท่านได้ที่ https://kingrama9.th/SandalwoodFlowers และคณะกรรมการอำนวยการพระราชพิธีขอความร่วมมือประชาชนร่วมถวายดอกไม้จันทน์ในพื้นที่ใกล้บ้าน
ถาม : ต้องแต่งกายอย่างไรในการถวายดอกไม้จันทน์ และขั้นตอนการถวายทำอย่างไร?
(ภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ)
ตอบ : การแต่งกายโดยสรุป เหมือนกับการแต่งกายเพื่อเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพก่อนหน้านี้ โดยรายละเอียดอ่านได้ในข่าว คลิกที่นี่ ส่วนขั้นตอนการถวาย อ่านได้ในข่าว คลิกที่นี่ แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องขั้นตอน เพราะทุกจุดจะมีเจ้าหน้าที่และจิตอาสาช่วยอำนวยความสะดวก และจัดขั้นตอนให้อยู่แล้ว
ถาม : ประชาชนสามารถเข้าร่วมชมริ้วขบวนพระราชพิธีในวันจริงได้หรือไม่ ในจุดใดบ้าง?
ตอบ : ได้ โดยผู้ที่จะเข้ามาชมริ้วขบวนในวันจริงจะต้องผ่านจุดคัดกรองก่อน โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจบัตรประชาชน ตรวจค้นสิ่งของและไม่อนุญาตให้นำไฟแช็ก อาวุธ ของมีคมต่างๆ เข้าไป จุดคัดกรองทั้ง 9 จุดอยู่ที่พระแม่ธรณีบีบมวยผม, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ท่าช้าง, แยกสะพานมอญ, ถนนกัลยาณไมตรี, แยกสะพานข้างโรงสี, แยกวัดพระเชตุพน, ท่าพระจันทร์ และใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยจุดคัดกรองจะเปิดตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2560
ส่วนผู้ที่ผ่านการคัดกรองแล้ว จะรอชมริ้วขบวนได้ที่ถนนมหาราช ถนนสนามไชย และบริเวณศาลหลักเมืองเท่านั้น โดยจะต้องอยู่บนทางเท้าฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวังเท่านั้น
ถาม : ข้อปฏิบัติของประชาชนที่ร่วมชมริ้วขบวนพระราชพิธี การแต่งกาย การถ่ายภาพ ใช้โดรน ฯลฯ เป็นอย่างไร?
(ภาพจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ)
ตอบ : - ประชาชนที่เข้าร่วมชมริ้วขบวนพระราชพิธีวันจริง จะต้องแต่งกายเหมือนการกราบถวายสักการะพระบรมศพก่อนหน้านี้ โดยรายละเอียดอ่านได้ในข่าว คลิกที่นี่ และที่สำคัญมาก คือจะต้องมีบัตรประชาชนติดตัวมาสำหรับการผ่านจุดคัดกรอง และขอให้นำน้ำ และอาหาร สิ่งของจำเป็นติดตัวมาด้วยเพื่อความสะดวก และช่วยกันรักษาความสะอาด
- ส่วนการถ่ายภาพนั้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาราชการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ระบุผ่านการให้สัมภาษณ์ว่า ประชาชนทั่วไปสามารถถ่ายภาพได้ ส่วนการทำภาพถ่ายทอดสด (เช่น Facebook Live) ส่วนตัวของประชาชนสามารถทำได้แต่ตนเกรงว่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตอาจจะไม่ดี เพราะมีประชาชนจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ในอาการสงบ สำรวม ไม่ผิดวิสัยของประชาชนทั่วไปพึงกระทำ และฟังคำสั่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพระราชพิธี
- ด้านการใช้อากาศยานขนาดเล็ก (โดรน) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศห้ามทำการบินโดรนในพื้นที่บริเวณพระบรมมหาราชวัง, มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และเขตพื้นที่โดยรอบในรัศมี 19 กิโลเมตร เว้นแต่โดรนที่ปฏิบัติภารกิจในการถ่ายภาพมุมสูงของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีฯ เท่านั้น ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ส่วนผู้สื่อข่าวที่มีบัตรอนุญาตเข้าร่วมทำข่าวในจุดที่กำหนด จะไม่สามารถใช้มือถือถ่ายภาพ หรือทำการถ่ายทอดสดเอง หรือใช้กล้องขนาดเล็กถ่ายภาพได้ ต้องเป็นกล้องมาตรฐานที่กำหนดเท่านั้น
ถาม : จุดบริการประชาชน น้ำ อาหาร การแพทย์ และห้องสุขาเป็นอย่างไร?
ตอบ : สำหรับในกรุงเทพมหานครนั้น พระเมรุมาศจำลอง และซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ทุกแห่ง ทุกขนาด มีบริการน้ำ อาหาร และบริการทางการแพทย์เตรียมพร้อมไว้ทั้ง 113 จุด อย่างไรก็ตาม หากมีประชาชนเป็นจำนวนมากอาจทำให้น้ำและอาหารไม่ทั่วถึง จึงขอให้ประชาชนเตรียมน้ำ อาหาร ที่รับประทานง่าย ไม่บูดเสียง่ายมาเองด้วย และขอให้ช่วยกันรักษาความสะอาด ทิ้งขยะในจุดที่กำหนด หรืออาจเตรียมถุงพลาสติกเพื่อความสะดวกในการเก็บขยะ
ส่วนห้องสุขา กรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือหน่วยงานใกล้เคียงจุดถวายดอกไม้จันทน์ทุกจุด ให้บริการห้องสุขาแก่ประชาชน พร้อมทั้งจัดรถสุขาเคลื่อนที่ 70 คัน และตู้สุขาเคลื่อนที่อีก 150 ตู้ ไว้ในทุกจุดถวายดอกไม้จันทน์แล้ว และยังมีอีก 3 จุดที่จะให้บริการสุขา คือวัดเบญจมบพิตร, วัดราชบพิธ และบริเวณศาลอุทธรณ์
ด้านการบริการทางการแพทย์ กรุงเทพมหานครร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลกองทัพ แพทย์หลวง และโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จัดหน่วยบริการ พร้อมการรับและส่งต่อผู้ป่วย ไว้ที่มณฑลพิธี 21 จุด และจุดถวายดอกไม้จันทน์ทุกประเภทอีก 113 จุด ตลอดงานพระราชพิธี
ถาม : มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีทางวิทยุและทีวีหรือไม่ ประชาชนสามารถรับชม รับฟังได้ทางใด แล้วในวันพระราชพิธีจะมีรายการปกติหรือไม่?
ตอบ : - โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) จะทำการถ่ายทอดสดพระราชพิธีตลอดทั้ง 5 วันตั้งแต่ต้นจนจบตามหมายกำหนดการพระราชพิธี โดยมีผู้บรรยายรวม 24 คน มีการเชื่อมสัญญาณภาพจากภูมิภาค 8 จุด จากจุดถวายดอกไม้จันทน์อีก 7 จุด และสามารถรับชมได้ผ่านจอ LED ทั่วประเทศ
- โดยสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง จะเชื่อมสัญญาณจาก ทรท. ก่อนพระราชพิธีจริง 1 ชั่วโมง โดยระหว่าง 1 ชั่วโมงนั้นจะมีการนำเสนอสารคดีก่อน ส่วนนอกเวลาเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสด ทุกสถานีสามารถจัดรายการปกติได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดและตามความเหมาะสมของสถานการณ์ หากมีรายการพิเศษก็ให้แล้วแต่แต่ละสถานีจะทำรายการเพื่อแสดงความอาลัยในแนวทางของตน
- ส่วนทางวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจะเป็นแม่ข่ายทำการถ่ายทอดเสียงสดไปยังสถานีวิทยุทุกระดับทั่วประเทศตลอดพระราชพิธีทั้ง 5 วันเช่นกัน โดยมีทีมผู้บรรยายรวม 26 คน
- ในต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ Thai TV Global Network (TGN) จะเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดตลอดพระราชพิธีทั้ง 5 วัน เพื่อให้ผู้ที่อาศัยในต่างประเทศกว่า 177 ประเทศได้รับชม
ถาม : การแสดงมหรสพ สถานบันเทิง การแข่งขันกีฬาต่างๆ และการเปิดทำการห้างสรรพสินค้าในช่วงพระราชพิธีจะปฏิบัติอย่างไร?
ตอบ : พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาราชการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า ใช้แนวปฏิบัติในทางเดียวกับช่วงวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2559 โดยสถานบันเทิงถ้ามีการแสดงขอให้ทำในพื้นที่ปิด สงบ สำรวม ส่วนการแสดงมหรสพและกีฬาต่างๆ โดยปกติผู้จัดก็จะพิจารณางดจัดในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่แล้ว ส่วนห้างสรรพสินค้าเปิดทำการได้ตามปกติ
ถาม : หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานพระราชพิธีเพิ่มเติม จะสามารถสอบถามหรือดูรายละเอียดได้ที่ใด
(ภาพจาก kingrama9.th)
ตอบ : - สามารถดูรายละเอียดได้ผ่านเว็บไซต์ www.kingrama9.net, www.kingrama9.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง (กอร.รส.) โทร.1441 , กองประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 1555 หรือ 0 2225 7612-4
- เรื่องการคมนาคม สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356 และสอบถามเส้นทางรถประจำทาง ขสมก. ได้ที่ โทร.1348
- เรื่องการแพทย์ ติดต่อศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 1646 หรือ 0-2622-9265 โทรสาร 0 2226 0248