สกู๊ปพิเศษ : มองอนาคต "เนติวิทย์" หลังคำสั่งถอดจากสภานิสิต เขายังมีทางรอดในจุฬาฯ แค่ไหน?
logo ข่าวอัพเดท

สกู๊ปพิเศษ : มองอนาคต "เนติวิทย์" หลังคำสั่งถอดจากสภานิสิต เขายังมีทางรอดในจุฬาฯ แค่ไหน?

ข่าวอัพเดท : 31 สิงหาคม 2560 เวลาบ่าย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกคำสั่งจุฬาฯ ที่ 4929/2560 ปลด "นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล" และเพื่อนสมาชิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,เนติวิทย์,เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์,ถวายสัตย์,สภานิสิต

24,978 ครั้ง
|
01 ก.ย. 2560
ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : มองอนาคต เนติวิทย์ หลั
          31 สิงหาคม 2560 เวลาบ่าย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกคำสั่งจุฬาฯ ที่ 4929/2560 ปลด "นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล" และเพื่อนสมาชิกสามัญของสภานิสิตอีก 4 คน พ้นจากการเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญ ลงนามโดย ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี ปฏิบัติการแทนอธิการบดี
 
          ไม่นานหลังมีกระแสข่าว นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊ก ระบุสาเหตุที่ตนต้องพ้นจากตำแหน่งว่า เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก 3 คน ที่เป็นกรรมาธิการสภา
 
          นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกรณี คือกรณีที่สภานิสิตจุฬาฯ โดยการนำของนายเนติวิทย์ จัดทำประชาพิจารณ์รับฟังปัญหาของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์ ที่อ้างว่าจุฬาฯ ไม่ทำตามคำโฆษณาที่เคยให้ไว้ ทำให้พวกเขาประสบปัญหาค่าใช้จ่ายและการขาดทุนจนต้องถึงขั้นฟ้องร้องกับจุฬาฯ ซึ่งผู้บริหารจุฬาฯ มีคำสั่งห้ามจัดการประชาพิจารณ์ดังกล่าว แต่สภานิสิตเลี่ยงไปเป็นการตั้งวงพูดคุยแทน กรณีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนและยังไม่มีคำตัดสิน
 
          เนติวิทย์ยืนยันว่าจะยังต่อสู้ต่อไป โดยการอุทธรณ์กับมหาวิทยาลัยตามกระบวนการ
ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : มองอนาคต เนติวิทย์ หลั
เนติวิทย์
โชติภัทร์ไพศาล
 
 
กางระเบียบพิฆาตเนติวิทย์และเพื่อน
"ปิดตาย" อนาคตการนำกิจกรรมในจุฬาฯ
 
ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : มองอนาคต เนติวิทย์ หลั
ภาพเหตุความวุ่นวายในพิธีถวายสัตย์ฯ ของนิสิตใหม่
จุฬาฯ ปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 3 ส.ค.
จนเป็นเหตุให้เนติวิทย์และเพืื่อนถูกลงโทษ
 
          หากวิเคราะห์ที่มาของบทลงโทษดังกล่าวว่าจะส่งผลต่อเนติวิทย์และเพื่อนอย่างไร จะพบว่า เนติวิทย์และเพื่อนถูกตัดคะแนนความประพฤติคนละ 25 คะแนน ซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติตามระเบียบข้อ 35 ของระเบียบสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่ระบุว่า
 
"ข้อ 35. ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตตามข้อ 17 ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
35.3 ไม่เป็นนิสิตที่เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป"
 
          และระเบียบข้อ 40.4 ที่ระบุให้สมาชิกสภานิสิตต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หากขาดคุณสมบัติตามข้อ 35
 
          ดังนั้นเนติวิทย์และเพื่อนอีก 4 คน จึงไม่มีโอกาสกลับมามีตำแหน่งสมาชิกสภานิสิต ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนส.ว.ในระบบการเมืองไทย ที่คอยสอดส่องการทำงานขององค์การบริหารสโมสรนิสิต รวมถึงมีหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์ต่างๆ ให้กับนิสิตจุฬาฯ อีกต่อไป
 
          และหากเนติวิทย์ต้องการย้ายไปทำงานในองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ซึ่งเปรียบเสมือน ส.ส. ในระบบการเมืองไทย คอยดำเนินนโยบายกิจกรรมและสวัสดิการต่างๆ เนติวิทย์ก็ต้องเจอกับระเบียบข้อ 97.3 ที่ระบุไว้ชัดเช่นกันว่า
 
"ข้อ 97. ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์การบริหาร ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
97.3 ไม่เป็นนิสิตที่ถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป"
 
          ดังนั้นประตูนี้สำหรับเนติวิทย์ ก็ถือว่า "ปิดตาย" เช่นกัน
 
          และไม่ใช่ปิดตายแค่ตำแหน่งสำคัญอย่างแค่ประธานองค์การ หรือประธานฝ่ายย่อยเท่านั้น แต่ยังอาจหมายรวมถึงตำแหน่งประธานชมรม และหัวหน้านิสิตระดับคณะด้วย เพราะตำแหน่งเหล่านี้ก็ถือว่าอยู่ในองค์การบริหารสโมสรนิสิตเช่นกัน 
 
          เท่ากับว่า นายเนติวิทย์และเพื่อนเหลือทางเลือกไม่กี่ทาง หากกระบวนการอุทธรณ์ ซึ่งต้องยื่นคำร้อง พร้อมข้อโต้แย้งคำสั่งลงโทษ และเหตุผลประกอบภายใน 30 วันต่อกรรมการของทางมหาวิทยาลัยนั้นไม่เป็นผล นายเนติวิทย์อาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำงานแค่เพียงระดับกรรมการชมรม หรือกรรมการคณะ ให้ไม่ขัดกับระเบียบที่ปิดตายไว้ทุกช่องทางเท่านั้น
 
          แต่คำถามคือ เนติวิทย์และเพื่อนจะยอมรับสิ่งเหล่านี้เพียงใด?
 
 
"เจษฎา" วิเคราะห์อนาคต "เนติวิทย์และเพื่อน"
เชื่อจุฬาฯ ตั้งใจตัดคะแนนให้กระทบสถานภาพกิจกรรม
 
ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : มองอนาคต เนติวิทย์ หลั
รศ.ดร.เจษฎา
เด่นดวงบริพันธ์
          ทีมข่าวออนไลน์เรื่องเล่าเช้านี้ พูดคุยกับ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ที่แสดงความเห็นต่อการกระทำของนายเนติวิทย์มาโดยตลอด และหลายครั้งความเห็นของ รศ.ดร.เจษฎา ก็ดูจะสวนทางกับแนวคิดของนายเนติวิทย์ 
 
          ซึ่งรวมถึงครั้งนี้ด้วย 
 
          รศ.ดร.เจษฎา แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่นายเนติวิทย์กระทำในงานถวายสัตย์ฯ จนเป็นดราม่าระดับประเทศ แต่ก็ยอมรับว่าไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษของทางจุฬาฯ เช่นกัน
 
          รศ.ดร.เจษฎาวิเคราะห์บทลงโทษในครั้งนี้ว่า กลไกการตัดคะแนนความประพฤติของจุฬาฯ ไม่ค่อยชัดเจน มักมองเป็นรายกรณีหรือเทียบกับกรณีในอดีตไป ยกเว้นเรื่องเครื่องแต่งกายกับเรื่องทุจริตการสอบ รศ.ดร.เจษฎาจึงเชื่อว่า การตัดคะแนนเนติวิทย์และเพื่อนไป 25 คะแนน จึงเป็นตัวเลขที่จงใจวางมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ส่งผลกระทบถึงสถานภาพในการทำกิจกรรมของนายเนติวิทย์และเพื่อนเอง
 
          "และอีกทางหนึ่ง หากตัดถึง 30 จะถือเป็นวินัยร้ายแรง ต้องเชิญผู้ปกครองมาพบ นับเป็นเรื่องใหญ่มาก เขาเลยตัดไม่ถึงตรงนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจุฬาฯ ต้องมีคณะกรรมการที่เสนอตัดแบบนี้ เป็นความตั้งใจให้ถึงเรื่องกิจกรรมที่เขาทำด้วย"
 
          รศ.ดร.เจษฎากล่าวต่อว่า การวิเคราะห์อนาคตของนายเนติวิทย์ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขาเองด้วย แต่หากไม่เป็นไปตามแนวทางที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้น เนติวิทย์อาจต้องตั้งกลุ่มอิสระ หรือชมรม เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ตนสนใจเอง โดยไม่อิงกับตำแหน่งที่ผูกพันกับคะแนนความประพฤติ ซึ่งนายเนติวิทย์เป็นคนทำกิจกรรมภายนอกค่อนข้างเยอะ ดังนั้น รศ.ดร.เจษฎา เชื่อว่านายเนติวิทย์คงทำกิจกรรมต่อไปอย่างแน่นอน
 
          "เรื่องการอุทธรณ์ก็เป็นการให้ความเป็นธรรม แต่อยู่ที่ว่ากรรมการอุทธรณ์จะรับฟังมากน้อยแค่ไหน บางครั้งมีการลดหย่อนโทษเพราะการอุทธรณ์ก็มี ก็ต้องไปลุ้นเอา แต่ถ้าเขาไม่ยื่นอุทธรณ์นี่ก็ช่วยไม่ได้นะ" รศ.ดร.เจษฎาระบุ
 
          เมื่อถามว่าจะเกิดปรากฏการณ์ที่เนติวิทย์จะส่งนอมินีเข้าไปทำงานแทนหากยื่นอุทธรณ์ไม่สำเร็จหรือไม่ รศ.ดร.เจษฎาตอบว่า เขามีสิทธิ์ทำ แต่คนที่ส่งเข้ามาจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำงานหรือไม่เป็นอีกเรื่อง หากไม่โดดเด่นพอก็อาจจะไม่มีใครเลือกเลยก็ได้
 
          อีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือนายเนติวิทย์ประกาศ "ซิ่ว" สมัครเข้ามาเรียนใหม่ ศ.ดร.เจษฎามองแนวทางนี้ว่าทำได้ แต่ไม่คิดว่าเนติวิทย์จะทำ หากจะมีทางอื่นอีกที่มีคนเสนอก็คือให้ลาออกแล้วไปเข้ามหาวิทยาลัยอื่น รศ.ดร.เจษฎาก็มองว่าไม่น่าเป็นสไตล์ของเนติวิทย์เช่นกัน
 
          เราถามต่อว่าบทลงโทษที่ออกมาเป็นการ "เขียนเสือให้วัวกลัว" หรือไม่ รศ.ดร.เจษฎาตอบว่า
 
          "ก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นการเตือนว่าอย่าทำอย่างนี้อีก โดยเฉพาะตัวเนติวิทย์และเพื่อนเอง ยิ่ง 25 คะแนนเนี่ยมันปริ่มเส้นน่ะ ถ้าเขาโดนเรื่องอื่นอีกมันข้ามไปที่ 35 คะแนน เขาโดนเรียกผู้ปกครองเลย ฉะนั้นมันเหมือนโดนคาดโทษไว้แล้ว คงต้องเป็นเขียนเสือให้พวกเขาน่ะกลัวใช่ แต่คนในจุฬาฯ ที่ออกแนวเนติวิทย์มีน้อยนะ ยังไม่เห็นภาพเลย"
 
 
เผย "ขนาดผมเข้าไปทักเขา เขายังไม่ทักตอบ"
ชี้ "จะทำอารยะขัดขืน ต้องยอมรับผลของความจริง"
 
          นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎา ยังเล่าให้ทีมข่าวฟังนอกรอบว่า ที่ผ่านมาไม่เคยได้มีโอกาสคุยส่วนตัวกับนายเนติวิทย์ มีเพียงการแชทกันผ่านเฟสบุ๊กสั้นๆ ขนาดเดินสวนกันอาจารย์เข้าไปทักยังไม่ทักตอบเลย 
 
          เราจึงเลือกปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า หากบอกเนติวิทย์ได้ วินาทีนี้ อยากบอกอะไรกับเขา
 
          "ผมเคยเสนอว่าสิ่งที่เขาทำเนี่ย เขาน่าจะมองว่าเป็นอารยะขัดขืน เปรียบเหมือนตอนอาจารย์ไชยันต์ (ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) ที่ตอนแกฉีกบัตรเลือกตั้ง คือรู้ว่าตัวเองผิด แล้วแสดงให้สังคมรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองจะต้องทำเนี่ย มันไม่เหมาะสม ฉะนั้น ถ้าเขาคิดว่าเขาถูกในเชิงของความคิด เขาจะเดินออกไปประท้วงแบบนั้น ก็ทำ ทำเสร็จแล้วก็มายอมรับว่าตัวเองผิด แล้วก็รับกระบวนการรับโทษไป ก็จบ แฟร์ๆแบบลูกผู้ชายไป แล้วก็มานั่งพิจารณาดีๆแล้วกันว่า กระบวนการที่ทำตรงนั้นน่ะ มันได้ผลจริงอย่างที่เราคิดหรือเปล่า เราอาจจะได้เสียงเชียร์จากคนข้างนอกเยอะ แต่คนในจุฬาฯ เองเนี่ย เขาเชียร์เราหรือเปล่า หรือกลายเป็นว่ายิ่งทำยิ่งเสียชื่อเสียง ถ้าครั้งที่ผ่านมาไม่มีเคสว่าอาจารย์มาล็อกคอเนี่ย ภาพมันจะคนละเรื่องเลยนะ คนก็จะยิ่งมองเขาในมุมไม่ดีเข้าไปใหญ่ จริงๆก็คืออยากให้มองว่าจะทำอารยะขัดขืนเนี่ย ก็ต้องยอมรับผลของความจริงด้วย" รศ.ดร.เจษฎาตอบ
 
-------------------------------------------
 
          และนี่อาจเป็นทางเลือกทั้งหมดที่เหลืออยู่ของ "เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล" และกลุ่มเพื่อนสภานิสิตของเขาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้.
 
ย้อนดูข่าวเรื่องนี้จากรายการเช้านี้  
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง