สกู๊ปพิเศษ : ภาพประวัติศาสตร์ "จุดฝักแค" ราชประเพณีที่ได้เห็นอีกครั้งบนแผ่นดินรัชกาลที่ 10
logo ข่าวอัพเดท

สกู๊ปพิเศษ : ภาพประวัติศาสตร์ "จุดฝักแค" ราชประเพณีที่ได้เห็นอีกครั้งบนแผ่นดินรัชกาลที่ 10

ข่าวอัพเดท : วานนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพนางรสสุคนธ์ ภูริเดช มารดาของพล.อ. จุดฝักแค,สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร,พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช,สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ

43,971 ครั้ง
|
08 ส.ค. 2560
 
วานนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพนางรสสุคนธ์ ภูริเดช มารดาของพล.อ.จักรภพ ภูริเดช หัวหน้าสำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ฯ รักษาราชการผู้บังคับหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และมารดาของพ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช รองผบก.ป. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
 
จากภาพข่าวพระราชกรณียกิจดังกล่าว ทำให้เราได้เห็นราชประเพณีอย่างหนึ่งที่มิได้มีการปฏิบัติมาเป็นเวลานานเกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นคือการ "จุดฝักแคพระราชทานเพลิงศพ" ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์ ขอนำประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชประเพณีดังกล่าวมานำเสนอแก่ผู้ชมทุกท่าน
 
-----------------------------------
 
การจุดฝักแคพระราชทานนั้น เป็นธรรมเนียมสำหรับการจุดไฟพระราชทานเพลิงศพข้าราชการทั่วไปหรือผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาพระราชทานเพลิงเป็นกรณีพิเศษ
 
ธรรมเนียมนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่มีหลักฐานปรากฎในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕ ว่ามีการจุดฝักแคพระราชทานเพลิงมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ.2395 แล้ว ส่วนเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิงนั้น หนังสือ "ร้อยแปดเรื่องไทย" ของ ส.พลายน้อยได้ระบุไว้ว่า
 
"ได้ทราบจากผู้ใหญ่ที่รู้ประเพณีเก่าเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้นพระราชทานไฟหลวงไปพร้อมกับเครื่องขมาศพ ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนเมรุ ซึ่งสันนิษฐานว่าเมรุแต่ก่อนอาจไม่เหมาะสม เช่นไม่แข็งแรง หรือดูไม่สมพระเกียรติยศ ถ้าเสด็จก็เพียงแต่ทรงจุดฝักแค บางครั้งก็เป็นกรณีพิเศษ"
 
โดยก่อนที่จะทำการจุดฝักแคนั้น พระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานผ้าไตรส่วนพระองค์ให้แก่ผู้สืบสกุลหรือทายาทนำไปทอดบนเมรุ ซึ่งขั้นตอนคือ
 
- จะมีเจ้าพนักงานและพนักงานเชิญผ้าไตรไปพร้อมกับทายาท ไปยืนหน้าพลับพลาเฉพาะพระพักตร์ฯ ถวายคำนับพร้อมกันแล้วเจ้าพนักงานกราบบังคมทูลพระกรุณา แล้วจึงถวายคำนับอีกครั้ง
- จากนั้นพนักงานจะเชิญผ้าไตรนำทายาทขึ้นสู่เมรุ พระสงฆ์จะทอดผ้าไตรและบังสุกุลโดยทายาทถวายคำนับก่อนและหลัง
- จากนั้นพนักงานพระราชพิธีจะเชิญพานเครื่องขมาศพไปวางเครื่องขมาที่หน้าศพ และจะอัญเชิญไฟสำหรับจุดฝักแค สุดท้าย พระเจ้าอยู่หัวทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิง ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะมิได้เสด็จขึ้นบนเมรุแต่อย่างใด
 
แต่หากงานพระราชทานเพลิงศพนั้นมีพระราชวงศ์พระองค์อื่นตามเสด็จพระราชดำเนินมาด้วยนั้น หลังจากพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไฟจุดฝักแคแล้ว พระราชวงศ์ทุกพระองค์ที่อยู่ในงานจะเสด็จขึ้นบนเมรุเพื่อพระราชทาน/ประทานดอกไม้จันตามลำดับ
 
ลักษณะของฝักแคนั้นจะเป็นกระดาษชนิดหนึ่งบรรจุด้วยดินปืนและตกแต่งห่อหุ้มให้สวยงามเป็นรูปสัตว์ในวรรรณคดี เมื่อจุดไฟแล้วฝักแคจะวิ่งไปตามลวดที่ขึงทอดยาวไปจนถึงหน้าโกศ/หีบศพ
 
จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่า ธรรมเนียมการจุดฝักแคพระราชทานเพลิงไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หนังสือ "ประเพณีเนื่องในการเกิด และประเพณีเนื่องในการตาย" ของพระยาอนุมานราชธนระบุว่า ชาวมอญก็ใช้สิ่งที่เรียกว่า "ลูกหนู" ซึ่งเป็นดอกไม้ไฟชนิดหนึ่งจุดวิ่งเข้าไปยังที่ตั้งศพพระผู้ใหญ่ หรือแม้แต่พม่า เขมรและเมืองเชียงใหม่ในอดีตก็มีการใช้ธรรมเนียมนี้เช่นกัน เพียงแต่รายละเอียดปลีกย่อยอาจจะต่างจากของคนไทยบ้าง
 
ข้อมูลจากหนังสือ "พระพิธีธรรม" ของกรมการศาสนาระบุว่า ผู้ที่พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงจุดฝักแค แต่จะเสด็จขึ้นเมรุเพื่อพระราชทานหรือถวายพระเพลิงด้วยพระองค์เอง ประกอบด้วย
 
- พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
- สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี
- สมเด็จเจ้าฟ้า
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ
- พระราชวงศ์ที่เป็นสะใภ้หลวงซึ่งได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า
- หม่อมเจ้าที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทยขึ้นไป หรือได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
- สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราช
- สมเด็จพระราชาคณะ 
- พระราชาคณะชั้นเจ้า คณะรอง (หิรัญบัฏ)
- พระราชาคณะชั้นธรรม
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง
- ประธานองคมนตรีและองคมนตรีที่ถึงแก่อนิจกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
- นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรต่าง ๆ ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฯ และรัฐมนตรีที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
- ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า
- ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์
 
ส่วนผู้ที่จะได้รับพระราชทานจุดฝักแค โดยหลักแล้วคือผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก และผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ 
 
ทั้งนี้ ในบางกรณีที่มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น พระมหากษัตริย์อาจพระราชทานเพลิงโดยการเสด็จขึ้นเมรุเป็นพิเศษ อาทิ คุณพุ่ม เจนเซน พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี หรือหม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา ที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณมายาวนานตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชืวิต ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปบนเมรุเพื่อจุดไฟพระราชทานเพลิงหน้าโกศศพ เป็นต้น
 
ผู้ที่จะทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิงมีได้เพียงสองพระองค์ คือพระมหากษัตริย์และพระราชินีเท่านั้น หากมีผู้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ หรือพระราชวงศ์พระองค์อื่นเสด็จฯ ก็มิได้ทรงใช้ฝักแคแต่อย่างใด
 
ธรรมเนียมการจุดฝักแคอาจจะเลือนหายไปในระยะหลัง อันเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 มิได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพผู้ใด แต่ภาพที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิงวานนี้ นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ในการสืบทอดโบราณราชประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป
 
--------------------------------------
 
ข้อมูลจาก :-
1. หนังสือ "พระพิธีธรรม" โดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
2. หนังสือ "ร้อยแปดเรื่องไทย" โดย ส.พลายน้อย
3. หนังสือ "ประเพณีเนื่องในการเกิด และประเพณีเนื่องในการตาย" โดยพระยาอนุมานราชธน
4. หนังสือ "คู่มือการประกอบพิธีศพ" โดยกองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
5. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕ พิมพ์แจกในงานปลงศพ พระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ แล คุณหญิง ถมยา ศิรินธรเทพสัมพันธ์ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๖๒
6. เพจ Facebook "คลังประวัติศาสตร์ไทย" Link

ข่าวที่เกี่ยวข้อง