ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าผ่ายผลิต หรือ กฟผ. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดหาก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) รายใหม่ เริ่มจัดหาภายในปี 2561 จากเดิมที่มีแต่ปตท.เพียงรายเดียว ระยะที่ 1 จะทดสอบระบบ และตั้งเป้าจัดหาปริมาณแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี โดยใช้หลักเกณฑ์การนำเข้าเช่นเดียวกับปตท. ส่วนระยะที่ 2 และ 3 จะเป็นระยะเปลี่ยนผ่านจนถึงเปิดเสรีเต็มรูปแบบ
อีกทั้งเห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจี(LPG)เต็มรูปแบบ ให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดแอลพีจีแข่งขันอย่างสมบูรณ์ พร้อมมีกลไกติดตามสถานการณ์ราคาอ้างอิงการนำเข้าก๊าซแอลพีจีและต้นทุนโรงแยกก๊าซอย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. เป็นต้นไป พร้อมเห็นชอบให้ปตท.สามารถดำเนินธุรกิจคลังก๊าซภายใต้โครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (LIFE) ในเชิงพาณิชย์ได้
ส่วนโครงการบัตรสวัสดิการสำหรับค่าพลังงาน ที่ประชุมกพช.เห็นชอบให้ปรับระบบและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านพลังงาน โดยดำเนินการผ่านระบบบัตรสวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ของกระทรวงการคลัง ทดแทนนโยบายและมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี ภายในวงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน (รวมกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน) และโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน ของกระทรวงพลังงาน ภายในวงเงิน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน (รวมกว่า 40 ล้านบาทต่อเดือน) ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงผู้มีรายได้น้อยได้โดยตรง จำนวน 14 ล้านคน ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการพร้อมวันเริ่มใช้บัตรสวัสดิการ ในวันที่ 1 ต.ค.
นอกจากนี้ ที่ประชุมกพช.ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ในประเทศไทย และเห็นชอบให้จัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าใช้อัตราค่าไฟฟ้า โดยนำร่อง 150 สถานี และคิดราคาค่าไฟฟ้าเทียบเท่ากับกิจการขนาดกลาง (จันทร์-ศุกร์ 4.10 บาทต่อหน่วย เสาร์-อาทิตย์ 2.60 บาทต่อหน่วย) เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีอัตราค่าไฟฟ้าถาวรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนจะเริ่มต้นเมื่อไหร่นั้นจะให้การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. เป็นผู้ประกาศอีกครั้ง
พร้อมยืนยันการส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศตามแผนอาเซียนพาวเวอร์กริด (ASEAN Power Grid : APG) เป็นการทดสอบระบบการส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศลาวไปยังมาเลเซียโดยมีไทยเป็นทางผ่าน ในปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ไม่ใช่การขายและส่งไฟฟ้าเนื่องจากไฟฟ้าขาดแคลน ซึ่งเบื้องต้นเป็นไปตามร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสปป.ลาวไปประเทศมาเลเซียผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย (LTM-PIP) อายุสัญญา 2 ปี ภายใต้โครงการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้า 4 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
+ อ่านเพิ่มเติม