ที่ประชุมแก้กม.บัตรทองยันแก้กม.ต่อ แต่ไม่แก้ตามภาคประชาชน ยันประชาชนไม่เสียประโยชน์
logo ข่าวอัพเดท

ที่ประชุมแก้กม.บัตรทองยันแก้กม.ต่อ แต่ไม่แก้ตามภาคประชาชน ยันประชาชนไม่เสียประโยชน์

ข่าวอัพเดท : ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เดินหน้าแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ขณะที่ภาคประ พระราชบัญญัติ,หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,แก้กฎหมาย

3,712 ครั้ง
|
13 ก.ค. 2560
ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เดินหน้าแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ขณะที่ภาคประชาชนเรียกร้อง หากจะเดินหน้าต่อก็ต้องรับผิดชอบปัญหาที่จะตามมา พร้อมยื่นร่าง พ.ร.บ. ของภาคประชาชนควบคู่ไปด้วย
 
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค, นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย รวมทั้งผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เดินทางมารวมกันหน้าบริเวณอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรอผลสรุปการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน พิจารณาครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปและเสนอต่อนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้
 
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ในวันนี้กลุ่มประชาชนเดินทางมารอผลสรุปของคณะกรรมการฯ ว่าจะพิจารณาเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะใน 5 ประเด็นเห็นต่างที่ไม่ควรเดินหน้าต่อไป แต่ควรรอการสรุปจากการประชุมสมัชชาสุขภาพ ได้แก่ 1.ประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุข 2.จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดซื้อเดิมที่ดีอยู่แล้ว 3.ประเด็นร่วมจ่ายในมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แทนที่จะตัดทิ้ง แต่กลับคงไว้ 4. ประเด็นสัดส่วนกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ที่จะมีการเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการ วิชาชีพมากกว่าประชาชน และ 5.คำนิยาม ไม่ควรเพิ่มคำว่า "เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ" ตามมาตรา 3 เนื่องจากการเพิ่มนิยามคำนี้ จะเป็นการขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนในมาตรา 38 ที่ระบุว่ากองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ แต่การแก้ไขกลับเพิ่มนิยามที่จะส่งผลให้ไปจำกัดความหมายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้านการสนับสนุน ส่งเสริม การจัดบริการ ซึ่งสามารถสนับสนุนรูปแบบอื่นได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะตัวเงิน เช่น สนับสนุนเป็นยาและเวชภัณฑ์
 
เบื้องต้นผลการประชุมของคณะกรรมการยืนยันที่จะเดินหน้าต่อโดยไม่มีการแก้ไขตามข้อเรียกร้อง หลังจากนี้ทางกลุ่มก็จะมีการเสนอร่างของภาคประชาชนควบคู่ไปด้วยในขั้นตอนต่างๆ นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า หากทางคณะกรรมการยืนยันที่จะเดินหน้าก็จะต้องสร้างกระบวนการที่เป็นกลาง โปร่งใส ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และให้ยอมรับต่อผลที่จะตามมาจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นหลังจากการแก้ไขจะเป็นอย่างไร และขอเรียกร้องให้แต่งตั้งคณะทำงานที่น่าเชื่อถือเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการแก้ไขกฎหมาย
 
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศเป็นประธาน นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา คณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า ที่ประชุมได้ประมวลผลการรับฟังความคิดเห็นจาก 4 เวที ในแต่ละภาคซึ่งทำอย่างรอบด้าน มีการพิจารณาทั้ง 14 ประเด็น ยืนยันประชาชนไม่เสียสิทธิ์และได้ประโยชน์มากกว่าเดิม สำหรับข้อกังวลของกลุ่มภาคประชาชนและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 5 ประเด็นเห็นต่าง ยืนยัน ปรับแก้ตามข้อเท็จจริงของสภาพสังคมในปัจจุบัน และต้องการให้เกิดความเข้าใจตรงกันในสังคม
 
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า โดยเนื้อหาที่หารือไม่ได้มีการปรับแก้สิทธิการร่วมจ่ายของประชาชนตามที่หลายฝ่ายกังวล ยืนยันจะไม่ให้มีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่ในระยะยาวเรื่องนี้จะต้องมีการทำศึกษาความยั่งยืนของระบบการเงินการคลังในระบบหลักประกันสังคม ซึ่งจะมีนพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ส่วนใน 4 ประเด็นอื่นที่จำเป็นต้องปรับแก้ มีดังนี้
 
1.การแยกเงินเดือนของบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว แต่ยังให้ทาง สปสช.เป็นผู้คำนวณต้นทุนและค่าแรงการให้บริการเช่นเดิม เนื่องจากการนำเงินเดือนของบุคลากรมารวมกับงบประมาณรายหัว ทำให้ไม่เกิดความอิสระ และไม่เห็นต้นทุนการบริหารจัดการชัดเจน ตรงกับสถานการณ์การเงินในปัจจุบัน
 
2. สัดส่วนคณะกรรมการ 2 ชุด ทั้งคณะกรรมการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานการบริการ และคณะกรรมการบริหาร เพิ่มจำนวนคณะกรรมการ อีกชุดละ 2 คน เป็นในสัดส่วนของภาคผู้ให้บริการมากขึ้น แต่ตัดในส่วนตำแหน่งของปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกไป
 
3. ให้มีการเพิ่มการช่วยเหลือเยียวยาในส่วนผู้ให้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการทำงาน เช่นเดียวกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริการ
 
4. เรื่องปัญหาการจัดซื้อยาที่ภาคประชาชนกังวล ยืนยันไม่ได้มีการปรับแก้ให้เสียประโยชน์ แต่ต้องการให้มีการต่อรองราคายาเหมือนกันทุก 3 สิทธิ์ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากยากลุ่มนี้ถือเป็นยาหายาก หรือยากำพร้า ราคาแพง เป็นการช่วยให้เกิดความเท่าเทียม 3 สิทธิ์ เนื่องจากที่ผ่านมาการให้สปสช.จัดซื้อขัดกับหลักกฎหมาย การแก้กฎหมายจึงต้องนำกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม แต่ยังให้สปสช.คิดคำนวณต้นทุนการจัดซื้อที่เหมาะสม โดยในปีงบประมาณ 2560 ยังให้สปสช. ดำเนินการจัดซื้อยาเช่นเดิม แต่ในปีงบประมาณ 2561 จะต้องตั้งเป็นคณะอนุกรรมการต่อรองราคายาแห่งชาติดำเนินต่อรองและจัดซื้อ 
 
สำหรับขั้นตอนจากนี้จะเวียนเอกสารให้คณะกรรมการรับรองการประชุม และจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจึงจะสามารถเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้
 
ด้านนายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ คณะกรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภามีมติให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพของแพทยสภาว่า คณะอนุกรรมการดังกล่าวมี 15 คน โดยมีตนเองเป็นประธาน และให้พิจารณาร่างแบบเร่งด่วนนอกเหนือจาก 14 ประเด็นให้แล้วเสร็จใน 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ช้า เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาปรับแก้กฎหมายทุกอย่างต้องรอบด้าน
 
โดยข้อมูลของแพทยสภานั้น จะนำรายละเอียดอื่นทั้งส่วนผู้ให้บริการและประชาชนมาพิจารณา อาทิ การใช้เงินของสปสช.ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.หลักประกันฯ หรือมาตรฐานการรักษา ที่ไม่ควรมีการกำหนดวิธีการรักษา มาตรฐานการรักษาให้เป็นไปตามเกณฑ์ถึงจะจ่ายเงิน เพราะการรักษาของแพทย์เป็นของศิลปะที่ไม่ควรมีการกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยหากพิจารณาแล้วเสร็จจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ สนช. ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง