สกู๊ปพิเศษ : คิดรอบด้านก่อนไปต่อ หาก กสทช. จะกำกับสื่อ OTT
logo ข่าวอัพเดท

สกู๊ปพิเศษ : คิดรอบด้านก่อนไปต่อ หาก กสทช. จะกำกับสื่อ OTT

ข่าวอัพเดท : อาจไม่มีคำใดจะบรรยายได้ดีไปกว่าคำว่า “ถอยเพื่อก้าวต่อไป” สำหรับนโยบายกำกับสื่อแพร่ภาพและกระจายเสียงแบบไม่ใช้คลื่นความถี่ ห OTT,กสทช.,นที ศุกลรัตน์,ฐากร ตัณฑสิทธิ์,พิจิตรา สึคาโมโต้,พัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ

111,999 ครั้ง
|
07 ก.ค. 2560

          าจไม่มีคำใดจะบรรยายได้ดีไปกว่าคำว่า “ถอยเพื่อก้าวต่อไป” สำหรับนโยบายกำกับสื่อแพร่ภาพและกระจายเสียงแบบไม่ใช้คลื่นความถี่ หรือที่เรียกว่าสื่อแบบ Over-The-Top (OTT) ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 

          2 สัปดาห์ที่แล้ว ทีมข่าวออนไลน์ของบีอีซี-เทโร ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวนี้ผ่านสกู๊ปพิเศษมาแล้วครั้งหนึ่ง นโยบายนี้จะกระทบต่อสื่อหลายกลุ่ม เช่น ทีวีดิจิตอลที่นำไปแพร่ภาพผ่านสื่อสังคมออนไลน์, ผู้จัดทำช่องวิดีโอบน Youtube ที่มีผู้ติดตามมากๆ, ผู้ให้บริการ IPTV หรือแม้กระทั่งผู้ให้บริการ iFlix และ Netflix ทั้งนี้ กสทช. จะขอให้สื่อเหล่านี้มาแจ้งการให้บริการกับ กสทช. และจะนำไปสู่การกำกับเนื้อหา ไม่ให้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น การขายยาผิดกฎหมาย การถ่ายทอดสดภาพลามกอนาจาร

 

ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : คิดรอบด้านก่อนไปต่อ ก่
(พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์)

          แต่สิ่งที่สังคมจับตามากที่สุดในเรื่องนี้ คือการที่ กสทช. นับรวมให้ Facebook และ Youtube เป็นสื่อ OTT ที่ต้องมาแจ้งการให้บริการและถูกกำกับเนื้อหาจาก กสทช. ด้วย และ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะเจ้าของเรื่องก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าหากทั้งสองเว็บไซต์ไม่มาแจ้งการให้บริการ จะมีปัญหาในการทำธุรกิจในประเทศไทยแน่นอน แม้ กสทช.จะยืนยันเจตนารมณ์ว่านโยบายนี้เป็นไปเพื่อการกำกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่สังคมยังตั้งคำถามถึงเจตนาในการดำเนินการว่าเกี่ยวกับเรื่องภาษีจากสื่อต่างชาติ และเรื่องการเมืองหรือไม่

 

 

ย้อนดูมาตรการกร้าว "กำกับ OTT" ก่อนถอยเพื่อเดินหน้า

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 28 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา กสทช. ประกาศมาตรการเด็ดขาด ให้ผู้ให้บริการสื่อ OTT และผู้ให้บริการโครงข่ายของสื่อ OTT ทั้งหมด ต้องแจ้งการให้บริการกับ กสทช. ภายในวันที่ 22 กรกฎาคม และย้ำว่าหากเลยเส้นตายดังกล่าวแล้ว สื่อที่ไม่มาแจ้งการให้บริการจะถูกถือว่าเป็นบริการที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และผู้ที่ยังลงโฆษณากับสื่อดังกล่าว ก็จะมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดไปด้วย และต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของความผิดที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องไปยังปฏิกิริยาจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Google (เจ้าของ Youtube) ว่าจะยอมมาแจ้งการให้บริการตามคำสั่งดังกล่าวหรือไม่

 

29 มิถุนายน 2560
หลังคำสั่ง กสทช.เพียงวันเดียว กลุ่มความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเข้าใจนโยบายด้านอินเทอร์เน็ตแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ AIC ซึ่งเป็นสมาคมที่เกิดจากการรวมตัวกันของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ได้แก่ Apple, Facebook, Google, LinkedIn, Twitter และ Yahoo ออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายดังกล่าวทันที พร้อมระบุว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเอเจนซี่โฆษณา ผู้บริโภค ผู้ผลิตเนื้อหา ตลอดจนไม่ส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศ

 

30 มิถุนายน 2560
พ.อ.ดร.นที ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเที่ยงทันข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV ตอบโต้แถลงการณ์ของ AIC ชี้ว่าการกำกับดูแล OTT เป็นเรื่องที่มีผู้เสียประโยชน์จึงออกมา พร้อมระบุว่า “ผมไม่ให้ค่า ไม่ให้ความสำคัญกับ AIC เพราะเป็นล็อบบี้ยีสต์”

 

3 กรกฎาคม 2560
ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เข้าพบปลัดกระทรวงพาณิชย์ หารือ-ยื่นหนังสือร้องเรียนการทำงานของบอร์ดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กรณี OTT ว่าดำเนินการเกินกว่าที่ได้รับมอบหมายจากบอร์ด กสทช. และอาจขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และอาจนำเรื่องมาหารือในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสหรัฐฯกลางเดือน ก.ค.นี้

 

4 กรกฎาคม 2560
พ.อ.ดร.นทีระบุว่า Google ติดต่อมาที่ กสทช. เกี่ยวกับการแจ้งการให้บริการ OTT แล้ว / เย็นวันเดียวกัน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ทวีตข้อความเตือนก่อนจะมีการนำเรื่อง OTT เข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. ในวันรุ่งขึ้นว่าการเรียก Google, Facebook มาแจ้งการให้บริการ อาจขัด พ.ร.บ.กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เสียเอง เพราะมีข้อห้ามผู้ประกอบการมีหุ้นที่ถือโดยต่างชาติเกินร้อยละ 25

 

5 กรกฎาคม 2560
ประธาน กสทช. แถลงมติบอร์ด กสทช. ยกเลิกกระบวนการเกี่ยวกับ OTT ที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ และยกเลิกเส้นตายที่ต้องแจ้งการให้บริการภายใน 22 ก.ค. เพื่ออุดช่องโหว่ที่อาจทำให้มีการร้องเรียนทางกฎหมายตามมา ทั้งนี้ให้ พ.อ.นที เร่งจัดทำร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการ OTT เสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งใน 30 วัน ก่อนนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปประชาพิจารณ์ และเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งก่อนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

 

กสทช. เก็บตัวเงียบหลังมติถอย
ปัดให้ข่าวเพิ่ม รอร่างหลักเกณฑ์ใหม่

 

          หลังมติ “ถอยเพื่อเดินหน้า” ดังกล่าว ทีมข่าวพยายามติดต่อไปยัง พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะเจ้าของเรื่อง แต่ได้รับคำตอบว่าไม่ว่างให้สัมภาษณ์ในขณะนี้ จากนั้นเราจึงพยายามติดต่อไปยังนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ผ่านเลขานุการส่วนตัว ซึ่งเลขานุการส่วนตัวให้ข้อมูลว่าตอนนี้ทุกอย่างหยุดไว้ก่อน และนายฐากรไม่มีนโยบายให้ข่าวใดๆ เพิ่มเติมเรื่อง OTT อีก เพราะได้แถลงผ่านมติบอร์ดอย่างชัดเจนแล้ว รวมทั้งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน แต่ยืนยันว่ามติในครั้งนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากการโต้แย้งเรื่องข้อกฎหมายของ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. แต่อย่างใด และยังไม่ได้มีการพิจารณาอะไรลึกขนาดนี้ หากมีความชัดเจนใดๆ สำนักประชาสัมพันธ์ของ กสทช. จะแจ้งเพื่อแถลงข่าวอีกครั้ง

 

          “ที่เลื่อนออกไป เพราะตอนนี้เกิดการยุบรวมบอร์ดย่อยของ กสทช. เหลือแค่บอร์ดเดียวแล้ว ฉะนั้นการประกาศใช้คำสั่งใดๆ ในตอนนี้ จะต้องเป็นมติของบอร์ดใหญ่ กสทช. เท่านั้น ฉะนั้นเรื่องนี้เขาจะให้เวลา 90 วันที่ทำให้มันชัดเจน จากนั้นก็จะมาบอกอีกทีว่าจะมีรายละเอียดในการกำกับอย่างไร ตอนนี้ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับคำสั่งอะไรเลย ทุกอย่างตอนนี้ยึดตามมติใหม่ทั้งหมด” เลขานุการส่วนตัวของเลขาธิการกสทช. ระบุ

ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : คิดรอบด้านก่อนไปต่อ ก่
(ฐากร ตัณฑสิทธิ์)

 

ตรวจสอบปฏิกิริยาวงการโฆษณา
คนในวงการชี้ซื้อเอเจนซี่เมืองนอกแทนได้
สมาคมโฆษณาดิจิทัลยัน “ทำไม่ได้”

 

          เมื่อลองตรวจสอบปฏิกิริยาในวงการโฆษณา แหล่งข่าวจากเอเจนซี่โฆษณารายหนึ่งเผยกับทีมข่าวว่า หาก Facebook และ Youtube ไม่เข้ามาแจ้งการให้บริการกับ กสทช. จริง ซึ่งจะทำให้เอเจนซี่โฆษณาในไทยไม่สามารถซื้อโฆษณาผ่านเว็บไซต์เหล่านี้ได้ เอเจนซี่หลายเจ้าก็เลือกที่จะใช้วิธีการโอนให้สาขาของเอเจนซี่ในต่างประเทศเป็นผู้ซื้อโฆษณาแทน เนื่องจากเอเจนซี่ส่วนใหญ่เป็นเอเจนซี่ระดับโลก และปกติลูกค้าเจ้าหนึ่งๆ จะใช้เอเจนซี่เจ้าเดียวกันทั่วโลกอยู่แล้ว ทั้งนี้แหล่งข่าวเห็นว่าหาก กสทช. ต้องการรายได้จากเว็บไซต์เหล่านี้จริง ก็ควรทำเหมือนประเทศออสเตรเลียที่เพิ่งออกกฎหมายเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติจะดีกว่า

 

ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : คิดรอบด้านก่อนไปต่อ ก่
(พัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ)
ภาพจาก
https://www.daat.in.th

          อีกด้าน นางสาวพัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ หนึ่งในคณะกรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่า ในอนาคตต้องรอดูว่าการแจ้งการให้บริการดังกล่าวจะออกมาเป็นกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นกฎหมายก็ต้องปฏิบัติตาม พร้อมยืนยันว่าวิธีการที่เอเจนซี่ไทยจะโอนย้ายให้สาขาในต่างประเทศซื้อโฆษณาแทน ในกรณีที่หาก Facebook และ Youtube ไม่ยอมแจ้งการให้บริการกับ กสทช. นั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

 

          “ไม่มีค่ะ อันนี้คือสิ่งที่โซเชียลเขาพูดกัน แต่ว่าในหลักความเป็นจริงต่อให้เราไปซื้อเอเจนซี่ประเทศอื่น แต่เนื้อหาเข้ามาในไทย ถ้าเป็นกฎหมายไทยก็ผิดอยู่ดีค่ะ เอาผิดได้ทั้งแบรนด์ได้ทั้งเอเจนซี่ที่ซื้อ ถ้ามีเครือข่ายอยู่ในไทยค่ะ” น.ส.พัชรีระบุ

 

          เมื่อถามว่าหากมีมาตรการดังกล่าวจริง ประเมินว่าจะส่งผลถึงยอดการลงโฆษณากับเว็บไซต์เหล่านี้หรือไม่ น.ส.พัชรีระบุว่ายังไม่ได้ประเมินเพราะมาตรการยังไม่เกิดขึ้นจริง และยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกนาน แต่จะน่าจะกระทบถึงเอเจนซี่ทั้งหมดในไทย ส่วนลูกค้าที่ซื้อโฆษณาต่างก็รอความชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อจะได้ทราบว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร

 

อาจารย์จุฬาฯ ชี้
ควรเก็บภาษี OTT เพื่อความเท่าเทียม
แต่ไม่ควรกำกับเนื้อหา

 

         ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่าการลงมากำกับสื่อ OTT เป็นเรื่องที่ กสทช. ดำเนินการในช่วงที่ใกล้หมดวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ก็สร้างผลงานมาหลายเรื่อง บางเรื่องก็เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่บางเรื่องก็เป็นความพยายามกำกับข่าวสารด้านการเมือง จึงทำให้เกิดความหวาดระแวงจากผู้ประกอบการต่างชาติว่าการกำกับสื่อ OTT ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ด้านใด

 

          อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าที่ผ่านมาหากเราจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการต่างชาติ รายได้เหล่านั้นก็จะถูกส่งไปที่สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศทั้งหมด แต่ผู้ประกอบการในไทยกลับต้องเสียภาษี เสียค่าใบอนุญาตต่างๆ ดังนั้นควรมีการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการ OTT ด้วยเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน

ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : คิดรอบด้านก่อนไปต่อ ก่
(ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้)
ภาพจาก
newsbroadcasting
council.or.th

 

          “เห็นด้วยในเชิงกำกับการแข่งขันให้เท่าเทียมกัน คุณไปจับเรื่องของระบบภาษี กสทช.ไม่ต้องลงมือเองก็ได้ ให้กรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์เขาจัดการ ไปกำกับตรงนี้ให้ได้ เพราะเงินมันไหลออกนอกประเทศจริงๆ แต่ถ้าคุณจะมากำกับเชิงเนื้อหา อาจารย์ไม่เห็นด้วย คุณเอาใครก็ไม่รู้มานั่งแล้วบอกว่าเรื่องนี้คนไทยห้ามดู แต่ถ้ามีเนื้อหาออกมา แล้วคนไทยตัดสินกันเอง ผู้ชมช่วยกันตัดสินกันว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะกับเมืองไทย ผู้ใช้รายงานขึ้นไป แล้วถึงจุดๆหนึ่งเขาก็จะเอาลง อันนี้อาจารย์ว่าก็ยุติธรรม” ผศ.พิจิตรากล่าว

 

          ผศ.พิจิตราเห็นว่า กสทช. ควรสร้างความชัดเจนให้ผู้ประกอบการและประชาชนเข้าใจประเด็นที่ กสทช. จะกำกับดูแล มิฉะนั้นอาจส่งผลถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของต่างชาติและการสร้างนวัตกรรม

 

          “ในยุคดิจิทัลเราคงไม่ได้มีแค่บริษัทรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่บริษัทที่จะมาลงทุนก็เป็นบริษัทแบบนี้แหละ บริษัทสื่อใหม่ ออนไลน์ แอพพลิเคชั่น แพลตฟอร์ม ตอนนี้เราอาจจะเก็บเงินจากเขาไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าวันที่เราสามารถทำระบบภาษีให้เข้าระบบและเก็บเงินเขาได้ แน่นอนว่าเงินมันก็เข้าประเทศ ก็ส่งเสริมการลงทุน การสร้างงานในประเทศ คุณลองไปดู Youtuber ว่าทำเงินได้เท่าไหร่ในประเทศนี้”

 

          “Youtube ของเมืองไทยเป็นตัวท็อปของเอเชียนะคะ สำนักงาน Youtube ในไทยเพิ่งเปิดไม่นาน แต่ Youtuber เมืองไทยสามารถสร้างการเข้าถึงผู้ชมหลักล้านได้หลายคนมาก นี่คือการสร้างงานให้เกิดขึ้นในสังคม แต่เป็นงานแบบใหม่ที่ผู้ใหญ่อาจจะไม่เข้าใจ คือมันเป็นงานภาคบริการ แล้วบริษัทต่างชาติหลายๆ ครั้งเขาสร้างงานในประเทศ สร้างนวัตกรรมเชิงเนื้อหา Youtuber บางคนก็อาจจะไปปรากฎบนจอทีวีก็ได้เพราะเขาทำเนื้อหาได้ดี คุณสู้กับช้างใหญ่แบบนี้ก็กลายเป็นว่าการลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยมันก็จะมีความหวาดระแวง ประเทศไทยจะไม่เป็น market-friendly น่ะ ไม่ได้ต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้เขาประกอบกิจการได้ยาก” ผศ.พิจิตราระบุ

 

          เมื่อถามว่าสุดท้ายแล้ว Facebook และ Youtube จะยอมทำตามนโยบายของ กสทช. หรือไม่ ผศ.พิจิตราตอบว่ายังไม่สามารถชี้ชัดได้ เพราะ Facebook หรือ Youtube ก็มาทำธุรกิจในประเทศไทย ได้ลูกค้าได้ประโยชน์ ได้เงินจากผู้บริโภคไทยค่อนข้างเยอะ ส่วน กสทช.ก็เป็นองค์กรที่พยายามมาควบคุม ซึ่งหากจะไปถามสำนักงานของทั้ง Facebook - Youtube ในประเทศไทย ก็คงต้องรอสำนักงานใหญ่ตัดสินใจอยู่ดี นอกจากนี้ ผศ.พิจิตรายังเสนอให้ กสทช.มีบทบาทในการส่งเสริมเนื้อหาของคนไทยให้ไปถึงระดับโลกด้วย

 

          “คุณจะไป 4.0 แต่คุณไม่พึ่งแพลตฟอร์มระดับโลกมันยากมาก ที่เนื้อหาเกาหลีดังระดับโลกได้เพราะเขาพึ่งแพลตฟอร์มระดับโลกนะคะ เพื่อให้มันเข้าถึงผู้ชมได้ในระดับโลก เศรษฐกิจดิจิทัลแข่งกันสองเรื่อง คือเรื่องเทคโนโลยี และเรื่องเนื้อหา อาจารย์เชื่อว่าคนไทยผลิตเนื้อหาได้เก่ง ด้วยวัฒนธรรมแบบไทยๆ มันมีอินเนอร์ของมัน มันมีความขำ สนุกสนาน เป็นยีนของเรา แล้วการผลิตเนื้อหาหลายๆอย่างของเรามันขายได้กับต่างประเทศ ดังนั้นอาจารย์มองว่าคุณต้องช่วยสนับสนุนการผลิตเนื้อหา รัฐบาลอาจจะไม่ต้องให้เงินมาผลิตเนื้อหาก็ได้ แต่ทำตลาดให้หน่อย หรือปูทางให้หน่อย ให้เกิดผู้ผลิตเนื้อหารายย่อย อันนี้มันจะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์” ผศ.พิจิตราสรุปปิดท้าย

 

เปิดเม็ดเงินลงโฆษณา
Facebook-Youtube ของบริษัทไทย
สะพัด 4.2 พันล้านต่อปี

 

          หากเหตุผลเบื้องหลังของการกำกับสื่อ OTT คือเรื่องภาษีและรายได้ที่จะเข้าประเทศ คงต้องไปสำรวจว่ารายได้ของ Facebook และ Youtube ในไทยเป็นตัวเลขเท่าใด

 

          แน่นอนว่าทั้งสองบริษัทไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียด แต่เราทราบจากการแถลงผลประกอบการของทั้งสองบริษัทว่า 98% ของรายได้ของ Facebook ล้วนมาจากการโฆษณาทั้งสิ้น ในขณะที่ Google ผู้เป็นเจ้าของ Youtube ก็มีรายได้ขั้นต้นถึง 11% ที่มาจากค่าโฆษณาบนเว็บไซต์ Youtube

 

          นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ชี้ว่าปี 2559 ที่ผ่านมา มีบริษัทไทยทุ่มเม็ดเงินโฆษณากับ Facebook และ Youtube กว่า 4,200 ล้านบาท คิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของค่าโฆษณาบนสื่อดิจิทัลทั้งระบบ และสมาคมฯ เชื่อว่าปีนี้ตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีก โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ลงโฆษณามากที่สุดบนสื่อดิจิทัล ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสื่อสาร, กลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์, กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และกลุ่มธุรกิจยานยนต์ ซึ่งทีมข่าวได้รวบรวมข้อมูลและจัดทำเป็นอินโฟกราฟิกตามด้านล่างนี้

 

ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : คิดรอบด้านก่อนไปต่อ ก่

 

เปิดโมเดลกำกับสื่อ OTT
ในต่างประเทศ เน้นกำกับลิขสิทธิ์ 
ความรุนแรง ภาพลามก
และคำพูดก่อความเกลียดชัง

 

          ทีมข่าวสำรวจต่อไปถึงการกำกับดูแลสื่อ OTT ในต่างประเทศ ซึ่งในงานวิจัยที่ กสทช. ทำร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งชี้ว่า ต่างประเทศมีการกำกับสื่อ OTT เข้มข้นมากน้อยต่างกันไป บางประเทศผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาต บางประเทศเน้นกำกับการใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อสื่อ OTT ให้เป็นธรรม แต่ในบรรดาประเทศส่วนใหญ่ที่สำรวจ ล้วนมีการกำกับเนื้อหาทั้งสิ้น แต่เป็นไปในลักษณะกำกับไม่ให้มีเนื้อหาที่ผิดลิขสิทธิ์ ป้องกันเด็กและเยาวชนจากภาพความรุนแรง ป้องกันสื่อลามกอนาจารของเยาวชน ตลอดจนระงับยับยั้งคำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังในสังคม

 

          ด้านประเทศที่มีการกำกับเนื้อหาสื่อ OTT แปลกไปจากประเทศอื่น อาทิ สหรัฐอเมริกา เพราะมีกฎหมายเสรีภาพการแสดงออกคุ้มครองไว้อย่างเข้มข้น หรือจีน ที่มีการกำกับเนื้อหาการแสดงออกทางการเมืองด้วย เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดติดตามได้จากอินโฟกราฟิกด้านล่าง

 

ข่าวอัพเดท : สกู๊ปพิเศษ : คิดรอบด้านก่อนไปต่อ ก่

 

----------------------------------------

            หลังจากนี้คงเป็นเวลาที่จะให้ กสทช. ได้ร่างหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสื่อ OTT กันใหม่ ก่อนจะผ่านขั้นตอนการเสนอต่อบอร์ด กสทช. จนนำไปประชาพิจารณ์ และกลับมานำเสนอบอร์ดอีกครั้งเพื่อประกาศใช้ ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อถึงวันนั้นคนในสังคมคงต้องกลับมาช่วยกันจับตาอีกครั้ง ว่าเรื่องนี้จะมีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายหรือไม่