กลุ่มประชาชนรวมตัว ร้องนายกฯ กม.บัตรทองไม่เป็นธรรม ชี้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพไม่เท่าเทียม
logo ข่าวอัพเดท

กลุ่มประชาชนรวมตัว ร้องนายกฯ กม.บัตรทองไม่เป็นธรรม ชี้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพไม่เท่าเทียม

5,626 ครั้ง
|
06 มิ.ย. 2560

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้หยุดกระบวนการแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

 

นางเตือนใจ สมานมิตร ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ภาคกลาง กล่าวว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้เห็นชัดว่าพยายามแก้กฎหมายเพื่อที่จะจำกัดช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น การไม่เปิดโอกาสให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรรับงบประมาณจากกองทุนในการร่วมจัดบริการ แต่กลับแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้หน่วยบริการ จากที่เคยถูกคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) บอกว่าจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟไม่ได้ ซึ่งจริงๆ โรงพยาบาลก็ต้องใช้จ่ายได้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ

 

ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ให้ความเห็นว่า ในขณะที่การแก้กฎหมายเอื้อให้โรงพยาบาลดำเนินการได้ แต่กลับไปตัดโอกาสภาคประชาชน โดยให้หน่วยบริการพิจารณา หากประเมินว่าจัดบริการบางอย่างไม่ได้ก็สามารถให้ภาคประชาชน หรือองค์กรสาธารณประโยชน์มารับงบจากหน่วยบริการไปดำเนินงานแทน ซึ่งเห็นชัดเจนแล้วว่าไม่มีความจริงใจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้บริการ

 

นางเตือนใจยังบอกอีกว่า สิ่งที่รับไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือกระบวนการแก้กฎหมายไม่มีธรรมาภิบาล เพราะคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่มีทั้งหมด 26 คน แต่มีตัวแทนภาคประชาชนแค่ 2 คน แม้จะมีการทักท้วงเพื่อขอเพิ่มจำนวนให้เหมาะสมระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการแต่ก็ไม่เป็นผล เนื้อหาที่ออกมาจึงเอื้อประโยชน์ให้กระทรวงสาธารณสุข แต่ภาคส่วนอื่นๆ กลับถูกลดบทบาทลง

ด้าน นายสุชิน เอี่ยวอินทร์ ผู้แทนกลุ่มคนไร้บ้าน กล่าวว่า รู้สึกห่วงและกังวลในกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ อย่างมาก เพราะเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายหลายประเด็นเข้าข่ายทำลายหลักการของบัตรทองอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะหลักการที่ให้ประชาชนทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีมาตรฐาน

นายสุชินบอกว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ไม่ครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล  หรือกลุ่มคนที่ตกสำรวจจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นคนไทยเหมือนกัน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาในระบบบัตรทอง หรือการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ณ จุดให้บริการ

หากมีการกำหนดเพดานในการร่วมจ่ายจะยิ่งลดทอนโอกาสในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชน ซึ่งควรตัดประเด็นนี้ออกจากกฎหมาย แต่ควรระบุให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่จัดให้กับประชาชน เพราะประชาชนก็ร่วมจ่ายผ่านระบบการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว” นายสุชินกล่าว

ด้านตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าวว่า การแก้กฎหมายแทนที่จะมุ่งแก้สิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้น กลับไม่ทำ เช่น การไม่ยอมแก้กฎหมายที่จะช่วยให้ สปสช. มีอำนาจเจรจา ต่อรอง จัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อย่างการสำรองยาแก้พิษ เซรุ่ม ยากำพร้า ยารักษาโรคเรื้อรัง เป็นสัดส่วนร้อยละ 4.9 ของงบประมาณการจัดซื้อยาทั้งหมด เพื่อเป็นหลักประกันว่าถ้าเมื่อใดมีประชาชนป่วยด้วยโรคที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ก็จะมียารักษาอย่างทันท่วงที มีความต่อเนื่องและยั่งยืน แต่ถ้าให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารเองทั้งหมด ภาคประชาชนยังไม่มั่นใจว่าจะมีกลไกใดมารองรับการจัดซื้อยาที่จำเป็นแต่มีราคาแพงของแต่ละโรงพยาบาล หรือหากเกิดปัญหายาขาดแคลนจะมีแนวทางจัดการอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง