ปฏิกิริยาโลกหลัง "ทรัมป์" นำสหรัฐฯ ถอนตัวจาก "ข้อตกลงปารีส"
logo ข่าวอัพเดท

ปฏิกิริยาโลกหลัง "ทรัมป์" นำสหรัฐฯ ถอนตัวจาก "ข้อตกลงปารีส"

ข่าวอัพเดท : ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์รวบรวมปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหลังการแถลงถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธ ข้อตกลงปารีส,สหรัฐอเมริกา,โดนัลด์ ทรัมป์,ถอนตัว

5,745 ครั้ง
|
02 มิ.ย. 2560
ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์รวบรวมปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหลังการแถลงถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ด้วยคำพูดแสบๆคันๆ ที่ว่า "ผมได้รับเลือกเป็นตัวแทนพลเมืองชาวพิตต์สเบิร์ก ไม่ใช่ปารีส"
 
เริ่มต้นจากปฏิกิริยาจากสหประชาชาติ ซึ่งโฆษกของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติใช้คำว่า "เป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ สำหรับความพยายามของทั่วโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนความมั่นคงของโลก" ขณะที่สหภาพยุโรประบุว่า "เป็นวันที่น่าเสียใจสำหรับโลกใบนี้"
 
จากนั้นชาติยุโรปอย่างฝรั่งเศส, อิตาลี และเยอรมนี ก็ออกแถลงการณ์ร่วมตามมา ระบุว่าการเจรจาข้อตกลงใหม่ตามความต้องการของผู้นำสหรัฐฯ จะไม่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแสดงความ "เสียใจ" ต่อการประกาศของนายทรัมป์
 
"เราเชื่อว่าแนวโน้มที่เกิดจากข้อตกลงปารีสเมื่อเดือนธันวาคม 2015 นั้นไม่สามารถย้อนกลับได้ และเราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าข้อตกลงปารีสจะไม่สามารถเจรจาต่อรองใหม่ได้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับโลก สังคมและเศรษฐกิจของพวกเรา" แถลงการณ์ร่วมสามชาติระบุ หลังทรัมป์กล่าวระหว่างแถลงถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส กล่าวว่าสหรัฐฯ ยังพร้อมเปิดเจรจาข้อตกลงใหม่ให้เป็นธรรมกับสหรัฐฯมากขึ้น
 
หน่วยงานของสหประชาชาติที่อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงปารีสก็ระบุเช่นกันว่า "ข้อตกลงนี้ไม่สามารถเจรจาใหม่ได้ตามคำขอฝ่ายเดียว"
 
ตามมาด้วยคนของทรัมป์เองอย่างอีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายยักษ์ ซึ่งประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกของคณะที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาวทันที หลังจากการตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของทรัมป์ พร้อมทั้งทวีตข้อความว่า "กำลังจะลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานาธิบดี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริง การถอนตัวจากข้อตกลงปารีสนั้นไม่ดีกับทั้งอเมริกาและกับโลก" นอกจากนี้ โรเบิร์ต ไอเกอร์  ซีอีโอของดิสนีย์ก็ประกาศถอนตัวจากการเป็นที่ปรึกษาทำเนียบขาวด้วยเช่นกัน
 
ข้ามไปที่แคนาดา นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดใช้คำว่า "ผิดหวังอย่างยิ่ง" ขณะเทเรซา เมย์ นายกฯอังกฤษก็ต่อสายแสดงความผิดหวังไปยังนายทรัมป์ และระบุว่าข้อตกลงดังกล่าวจะ "ช่วยปกป้องความมั่งคั่งและมั่นคงของคนรุ่นต่อๆไป" ส่วนเธอเองยังยืนยันว่าสหราชอาณาจักรยังคงยึดมั่นที่จะคงสถานะการลงนามในข้อตกลงปารีสต่อไป
 
ด้านประธานาธิบดีหมาดๆ ของฝรั่งเศสอย่างนายเอมมานูเอล มาครง ระบุว่าเขาเคารพการตัดสินใจของนายทรัมป์ แต่เขาเชื่อว่านี่เป็น "ข้อผิดพลาดทั้งของสหรัฐฯ และโลกของเรา"
 
นายทาโร่ อาโซะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นก็กล่าวว่าเขาไม่เพียงแค่ผิดหวังเท่านั้น แต่ยังรู้สึกโกรธด้วย
 
ขณะที่หมู่เกาะเล็กๆที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลก็มีปฏิกิริยาเช่นกัน โดยนางฮิลดา เฮน ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ระบุว่าการถอนตัวของทรัมป์ "สร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อพวกเรา ผู้ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก"
 
ปิดท้ายที่ปฏิกิริยาของนายกเทศมนตรีเมืองพิตต์สเบิร์ก นายบิลล์ เพดูโต ออกมาตอบโต้นายทรัมป์ที่กล่าวว่า เขาถูกเลือกมาเป็นตัวแทนของชาวพิตต์สเบิร์กไม่ใช่ปารีส โดยกล่าวว่า สิ่งที่ทรัมป์กำลังทำไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงเท่านั้น แต่ยังทำให้อเมริกาอ่อนแอลงในโลกใบนี้ด้วย
 
"ชาวพิตต์สเบิร์กโหวตให้ฮิลลารี คลินตันถึงเกือบ 80 เปอร์เซนต์" บิลล์ย้ำ