ในที่ประชุม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในวันนี้ ได้มีมติรับทราบและส่งผลการศึกษาการปฏิรูปเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน ไปยังรัฐบาลแล้ว
โดยเป็นการปรับปรุงข้อเสนอของรัฐบาลที่มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
ซึ่งในข้อเสนอของ สปท. กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) ขึ้นเป็นส่วนราชการ มีฐานะเทียบเท่ากรม และขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีเลขา สมช. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปอท. และ สตช.ร่วมเป็นกรรมการ
เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีอำนาจสั่งการทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน วางมาตรการยับยั้งภัยคุกคามไซเบอร์ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เร่งรัดการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ วางระบบป้องกันการแฮ็กข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ หรือ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ตลอดจนป้องกันการปล่อยไวรัสมัลแวร์ทำลายข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ซึ่งสมาชิกในที่ประชุม ต่างอภิปรายเห็นด้วย เพราะปัจจุบันมีปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์อย่างรุนแรงและรวดเร็ว จำเป็นต้องมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแล
สำหรับปัญหาการปล่อยไวรัสมัลแวร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดนั้น ที่ ประชุม สปท. ได้เชิญ นายโกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ชี้แจงปัญหาต่อที่ประชุม โดยนายโกเมน กล่าวว่าไวรัสตัวนี้เริ่มระบาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ไทยโชคดีที่ตรงกันวันหยุดราชการทำให้ไม่กระทบต่อหน่วยงานรัฐของไทย ต่างจากประเทศอังกฤษที่ถูกเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยจนทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้
ด้านนายโกเมน เผยว่า ไวรัสตัวนี้เกิดจากการที่ ข้อมูลการวิจัยขึ้นของหน่วยงานCIAในสหรัฐ ที่วิจัยเกี่ยวกับช่องโหว่ของระบบคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศต่างๆหลุดออมาอยู่ในมือของแฮกเกอร์จนเกิดการสร้างไวรัสขึ้นมาตามช่องโหว่ของของระบบคอมพิวเตอร์และมีการแพร่กระจายให้เกิดความเสียหายมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดโดยบังเอิญ
วิธีป้องกันจากไวรัสมัลแวร์ 3 วิธี
1. สำรองข้อมูลสม่ำเสมอ
2. ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัส และอัพเดตโปรแกรมอื่นๆ
3. ไม่ควรเปิดอีเมลที่ไม่รู้จัก หรือ ที่น่าสงสัย
อย่างไรก็ตาม พลตำรวจตรี พิสิษฐ์ เปาอินทร์ กรรมาธิการพิจารณาเรื่องนี้ เปิดเผยข้อมูลว่าล่าสุดทางแฮกเกอร์ได้พัฒนาเปลี่ยนวิธีแพร่ไวรัสจากทางอีเมลล์ไปใช้วิธีสแกนจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่กำลังเชื่อมต่ออินเตอร์เนตอยู่แทน หากคอมพิวเตอร์ไม่มีระบบป้องกันไวรัสก็จะเข้าไปฝังตัวทันที
ภาพ : มติชน