วันที่ 4 พ.ค. จากกรณีที่ชาวบ้าน ใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส พบบ่อน้ำสีดำ อยู่บริเวณสวนยางพารา และมีการนำมาดื่ม และชำระร่างกาย โดยเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิสิทธิ์ สามารถบรรเทาอาการบาดเจ็บและรักษาโรคผิวหนังได้ นั้น ล่าสุด นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีข่าวนี้ว่า เพื่อเฝ้าระวังอันตรายต่อผู้บริโภค เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข อำเภอศรีสาคร และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำบ่อสีดำดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานน้ำดื่มและตรวจสอบตะกอนสีดำที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา เมื่อวันที่ 19 และ 24 เม.ย.60 และจากผลการทดสอบคุณภาพน้ำสีดำตามมาตรฐานน้ำบริโภค พบว่าไม่ได้มาตรฐานทั้งทางด้านเคมีและจุลชีววิทยา สาเหตุทางด้านเคมีเนื่องจากมีปริมาณสารฟลูออไรด์ และเหล็ก สูงกว่าเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานน้ำดื่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) และ (ฉบับที่ 6)(พ.ศ. 2553) โดยเฉพาะฟลูออไรด์ และเหล็กสูงกว่าเกณฑ์ถึง 14 และ 43 เท่า ตามลำดับ ซึ่งฟลูออไรด์อาจส่งผลให้กระดูกเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เป็นโรคฟันตกกระ ฟันลาย การทำงานของไตและต่อมไร้ท่อผิดปกติ
นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ส่วนเหล็กถึงแม้ไม่มีผลต่อสุขภาพมากนัก แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจจะสะสมในตับทำให้เกิดโรคได้ นอกจากนี้ยังไม่ได้มาตรฐานทางด้านจุลชีววิทยา เนื่องจากพบเชื้อโคลิฟอร์ม (MPN Coliforms) มากกว่า 23 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร ซึ่งเกินเกณฑ์กำหนด และพบอีโคไลน์ (E. coli) และสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (S. aureus) ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร ท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ สำหรับตะกอนสีดำเป็นสารกลุ่มซัลไฟด์ตรวจพบในปริมาณ 4.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งคุณภาพน้ำบริโภคจะต้องไม่มีสารดังกล่าวอยู่เลย ดังนั้นจึงนำไปเทียบกับมาตรฐานน้ำทิ้งพบว่าเกินมาตรฐานถึง 4.8 เท่า อย่างไรก็ตาม จากผลการทดสอบนี้ชี้ให้เห็นว่าตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำสีดำไม่ได้มาตรฐาน โดยพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ และพบซัลไฟด์เกินมาตรฐานน้ำทิ้ง จึงถือเป็นน้ำเสียที่ต้องผ่านการบำบัด หรือปรับปรุงคุณภาพน้ำตามมาตรฐานก่อนนำมาใช้ เตือนประชาชนไม่ควรบริโภคหรือใช้น้ำบ่อสีดำเพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ แล นพ.สุขุมยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับประเด็นที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำสีดำและใสได้เพราะเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น จริงๆแล้วเป็นปฏิกิริยาทางเคมี ถ้ามีอากาศน้อยหรืออกซิเจนต่ำจะทำให้น้ำเป็นสีดำเพราะมีตะกอนของสารประกอบเหล็กกับซัลไฟด์ แต่ถ้ามีอากาศหรือออกซิเจนสูงจะเกิดการสลายตัวเป็นซัลเฟอร์ และซัลเฟต ตะกอนสีดำจะหายไป น้ำจึงใสขึ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
+ อ่านเพิ่มเติม