เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ยอมรับมาตรการคัดกรองคนขับแท็กซี่ยังหละหลวม เสนอรัฐวางมาตรการเพิ่มทั้งเสริมเทคโนโลยี และ พัฒนาบุคลากร
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยอมรับถึง ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับการให้บริการแท็กซี่ที่ออกมาบ่อยครั้งจนกระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้ให้บริการแท็กซี่ส่วนใหญ่ โดยเปิดเผยว่า จากนโยบายการเปิดเสรีรถแท็กซี่ในอดีต ทำให้ปัจจุบันรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนมีจำนวนมากถึง 170,000 คัน ในจำนวนนี้ มีแท็กซี่ปลดระวาง ราว 60,000 คัน แต่มีรถที่มีคนขับวิ่งให้บริการจริงอยู่ราว 100,000 คัน โดยแต่ละวันประเมินว่ามีการวิ่งให้บริการคันละ 15 เที่ยว เที่ยวละ 2 คน ก็จะมีผู้โดยสารรถแท็กซี่รวมอยู่กว่า 3 ล้านคน ซึ่งหากมีแท็กซี่ที่กระทำผิด 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก
นายวิฑูรย์ ยอมรับว่า ปัจจัยเบื้องต้นคือ ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ มีอิสระในการเลือกสหกรณ์ หรือ ขับขี่รถแท็กซี่ส่วนบุคคล การเปิดเสรีฯ ทำให้การควบคุมคุณภาพทำได้ยาก เนื่องจากปัจจัยปัญหาต่างจากในอดีต รวมถึง การเปิดเสรีฯ ทำให้จำนวนแท็กซี่ในตลาดมีจำนวนมาก แต่คนขับมีน้อย จึงเกิดการแย่งตัวคนขับ โดยไม่พิจารณาคุณสมบัติให้รอบคอบ และแต่ละสหกรณ์ก็มีนโยบายการอบรมพนักงานที่แตกต่างกัน
ขณะที่กรมการขนส่งทางบก ทำได้เพียงการ จับ และปรับ ตามกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมดเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำกัด ส่วนการคัดกรองผู้ขับขี่ ก็ทำได้เพียง การสอบประวัติอาชญากรรม และ สอบความสามารถในการขับขี่ แต่ยังขาดเรื่องการอบรมด้านการบริการ
ดังนั้น จึงเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา สะท้อนจากมุมของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรยกระดับการกลั่นกรองผู้ขับขี่ให้เข้มงวดมากขึ้น กำหนดระเบียบให้ ผู้ประกอบการ หรือ สหกรณ์ ต้องมีการอบรมพนักงานด้านบริการ เพิ่มเติม ที่สำคัญ เสนอให้ กรมการขนส่งทางบก พัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น การติดตั้งระบบจีพีเอส และติดตั้งกล้องในรถแท็กซี่ รวมถึง ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรประชาชนของผู้ขับแท็กซี่ ก่อนออกรถ (เช่นเดียวกับมาตรการที่ใช้ในรถตู้โดยสารสาธารณะ) ซึ่งจะส่งข้อมูลการขับขี่ไปยังศูนย์ควบคุมรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งจะช่วยควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของรถแท็กซี่ นอกจากนี้ยังเสนอให้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ เพิ่มการอบรมพัฒนาบุคลากร และผู้ขับขี่รถแท็กซี่ให้มีใจรักด้านบริการ โดยเห็นว่า เมื่อพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและพัฒนาคนแล้ว ก็จะช่วยให้ปัญหาแท็กซี่ลดลงได้
นายวิฑูรย์ ยังแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของนักวิชาการด้านโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ที่เสนอให้มีการปรับโครงสร้างระบบรถแท็กซี่ใหม่ ให้อยู่ในรูปของบริษัท เพื่อให้ง่ายต่อการกำกับดูแลคุณภาพ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร และอยากให้พิจารณาเรื่องการปรับราคาเพื่อให้จูงใจคนขับไม่ให้ปฏิเสธผู้โดยสาร ยกระดับคุณภาพของแท็กซี่ และสอดรับกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
+ อ่านเพิ่มเติม