1 เม.ย.นี้ ดีเดย์ กวาดล้างหนี้นอกระบบ
logo ข่าวอัพเดท

1 เม.ย.นี้ ดีเดย์ กวาดล้างหนี้นอกระบบ

ข่าวอัพเดท : ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยกระทรวงการคลัง แถลงมาตรการและแนวทางปฏิบัติ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เตรียมดำเนินคดีกับนายทุนเงินกู้น เมษายน,ตำรวจ,กวาดล้าง,หนี้,หนี้นอกระบบ

398,489 ครั้ง
|
31 มี.ค. 2560
         ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยกระทรวงการคลัง แถลงมาตรการและแนวทางปฏิบัติ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เตรียมดำเนินคดีกับนายทุนเงินกู้นอกระบบอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป 
 
 
        พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , พล.ต.อ.สุวิระ ทรงเมตตา ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 พร้อมด้วยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ร่วมแถลงข่าวมาตรการ และแนวทางปฏิบัติในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
 
        โดย พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ เปิดเผยว่า มาตรการเข้มงวดอย่างจริงจังที่ถูกกำหนดขึ้น จะสามารถช่วยให้การปล่อยเงินกู้นอกระบบลดลง หรืออาจจะหมดไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะมีการนำกฏหมายการฟอกเงินมาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งหลังจากนี้ตำรวจจะเดินหน้านำมาตรการกวาดล้างหนี้นอกระบบมาใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน เป็นต้นไป โดยได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจภูธร 1-9 บชน. ปชป. ระดมกวาดล้างเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล 
 
         ส่วน พล.ต.อ.สุวีระ เปิดเผยว่า รัฐบาลออกกฏหมายให้นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ ไปขึ้นทะเบียนตามกฏหมาย เพื่อให้ปล่อยเงินกู้ได้อย่างถูกต้อง โดยอนุญาตให้เรียกเก็บเงินดอกเบี้ยได้ร้อยละ 3 บาทต่อเดือน แต่หากไม่ขึ้นทะเบียนจะเรียกเก็บดอกเบี้ยได้เพียง 1.25 บาท ต่อเดือนเท่านั้น สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือสถาบันการเงินในการปล่อยเงินกู้ได้ สามารถติดต่อนายทุนที่ไปขึ้นทะเบียนเปิดบริษัทถูกต้องได้ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทดังกล่าวได้ที่กระทรวงการคลัง
 
        ด้านนายกฤษฎา เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีช่องทางสำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้นอกระบบ สามารถติดต่อได้กับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งมีหน่วยงานแก้ไขหนี้นอกระบบอยู่ทุกสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีศูนย์ไกล่เกลี่ยนหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด พร้อมให้การช่วยเหลือเรื่องการฟื้นฟูลูกหนี้-ส่วนนายทุนที่จะเข้าสู่ระบบการปล่อยกู้เงินให้ถูกกฏหมาย สามารถขอใบอนุญาตได้ เช่น ประเภทการปล่อยกู้แบบนาโนไฟแนนซ์ มีทุนจดทะเบียนจำนวน 50 ล้านบาท และสามารถปล่อยกู้ได้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท โดยเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี หรือไม่เกิน 3 บาทต่อเดือน โดยบริษัทดังกล่าวสามารถปล่อยกู้ได้ทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดมีนายทุนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 25 ราย ส่วนสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีทุนจดทะเบียนจำนวน 5 ล้านบาท สามารถปล่อยกู้ได้ในเฉพาะจังหวัดที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อคน ล่าสุดมีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 150 ราย พร้อมยืนยันว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการตรวจสอบประวัติของนายทุน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยเฉพาะประวัติต้องห้ามในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผ่านมา ซึ่งหากพบว่า นายทุนที่จดทะเบียน มีการกระทำผิด จะถูกยกเลิกใบอนุญาต และถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย