วอร์รูม ปภ. ประเมินหลัง 11 ม.ค.ฝนภาคใต้จะลดลง
logo ข่าวอัพเดท

วอร์รูม ปภ. ประเมินหลัง 11 ม.ค.ฝนภาคใต้จะลดลง

27,356 ครั้ง
|
10 ม.ค. 2560
     กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ หรือ บกปภ.ช. ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่างส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับ ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง แต่ระดับน้ำยังทรงตัว ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนและเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา ทำให้มีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะประจวบคีรีขันธ์ที่มีน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที 
 
     นอกจากนี้ จากการประเมินสถานการณ์ พบว่า หลังวันที่ 11 ม.ค. 2560 ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคใต้จะลดลง แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพของภาคใต้ ซึ่งเป็นที่สูงสลับกับที่ลุ่ม ทำให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ทะเลหรือทะเลสาบ จากจุดที่เป็นต้นน้ำไปสู่กลางน้ำ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วัน น้ำจะไหลลงสู่ปลายน้ำ ทำให้พื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ในขณะที่พื้นที่ปลายน้ำบริเวณปากแม่น้ำและริมชายฝั่งทะเลจะใช้เวลาประมาณ 5 – 7 วัน สถานการณ์จึงจะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ
 
     โดย นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ บกปภ.ช. เน้นย้ำจังหวัดที่มีปริมาณฝนลดลงให้เร่งคลี่คลายสถานการณ์ โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์และระดับน้ำทะเลหนุน เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง ทั้งการบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น และการฟื้นฟูความเสียหายในระยะยาว 
 
     ขณะที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหัวหน้าศูนย์การปฏิบัติ บกปภ.ช. ได้สั่งการจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายให้เร่งสำรวจความเสียหาย แยกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อาทิ ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ค่าซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัย ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน  ด้านการประกอบอาชีพ อาทิ การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ อาทิ ถนน สะพาน และระบบสาธารณูปโภค ให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักดำเนินการ ตามแผนงบประมาณให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว สำหรับถนนในหมู่บ้านที่ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแล ให้จังหวัดขอรับการสนับสนุนงบกลางเพื่อดำเนินการซ่อมแซมโดยด่วนต่อไป