ผู้บริหารสื่อยื่นข้อเสนอต่อการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล
logo ข่าวอัพเดท

ผู้บริหารสื่อยื่นข้อเสนอต่อการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล

3,405 ครั้ง
|
05 ก.ย. 2556

ผู้บริหารระดับสูงกิจการโทรทัศน์ สรุปข้อเสนอต่อกสทช. กรณีการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์แบบดิจิตอล ระบุ ขัอกฎหมายและกระบวนการขั้นตอนที่นำไปสู่การปฏิบัติของผู้ประกอบกิจการยังไม่มีความชัดเจน รวมถึงการกำกับดูแลเนื้อหาและจำนวนบุคลากรที่อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าหากมีช่องโทรทัศน์มากถึง 24 ช่องจะเกิดรายการมากถึง 200,000 รายการทำให้การกำกับดูแลความเหมาะสมของเนื้อหาทำได้ไม่ทั่วถึง

 

นายปราโมช รัฐวินิจ อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะผู้แทนผู้บริหารระดับสูงสถานีโทรทัศน์ ผู้ผลิตรายการ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สมาคมวิชาชีพ องค์การพัฒนาเอกชน ซึ่งเป็นผู้เข้ารับการอบรมนักบริหารระดับสูงกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (BCF รุ่นที่ 1) สรุปมุมมองและข้อเสนอต่อการเปลี่ยนผ่านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สู่ระบบดิจิตอล เพื่อเสนอต่อ กสทช. สำหรับนำไปปรับปรุงกระบวนการเปลี่ยนผ่าน โดยเน้น 2 ประเด็นหลัก คือ ข้อกฎหมาย และ การนำสู่การปฏิบัติ ที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ในกระบวนการนำไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงเนื้อหาของรายการที่ต้องให้ความสำคัญ

 

 

สำหรับ 4 ประเด็นหลักที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ไทย คือ

1. กฎหมาย

2. เทคโนโลยี

3. เนื้อหา

4. การจัดเรทติ้ง

 

นายปราโมช แสดงความเป็นห่วงเรื่องการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ และการควบคุมคุณภาพรายการ ที่อาจมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร เพราะหากมีการประมูลช่องธุรกิจ 24 ช่องจริง ก็จะส่งผลให้มีรายการความยาว 1 ชั่วโมงถึง 200,000 รายการ หากเป็นรายการครึ่งชั่วโมง ก็มากถึง 400,000 รายการ อาจทำให้การควบคุมคุณภาพทำได้ไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ยังเสนอให้ กสทช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ  สนับสนุนให้องค์กรวิชาชีพสื่อ เข้ามามีบทบาทในการควบคุมกันเอง/ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการดูแลทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวได้เสนอต่อ กสทช. ไปแล้วในวันนี้

 

ด้านพ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) กล่าวว่า กสท.ได้รับข้อเสนอจาก BCF ไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีประโยชน์กับการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิตอล โดยเฉพาะในมุมของการกำกับดูแลและการดำเนินกิจการหลังจากการเปลี่ยนผ่าน

 

ขณะที่นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ให้มุมมองว่า การเปิดประมูลช่องดิจิตอลพร้อมกันครั้งเดียวถึง 24 ช่อง เป็นความท้าทายที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเห็นว่าหากทุกอย่างยังไม่พร้อมก็ไม่ควรต้องเร่งรีบ โดยเสนอว่า กสทช.ควรดำเนินการทุกอย่างให้พร้อมทั้งในด้านเทคนิค ข้อกฎหมาย และความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แล้วจึงเปิดการประมูลแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ส่วนพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการเปลี่ยนผ่านกิจการโทรทัศน์ไทยไปสู่ระบบดิจิตอล คือการปรับตัวของประเทศไทยในเรื่องทีวี.ดิจิตอล ให้มีความทันสมัยรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนและรองรับเทคโนโลยีที่เท่าเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านที่ได้มีการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิตอลเช่นกัน

 

เช่นเดียวกับนายสหพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร ทรูวิชั่น กล่าวว่า การมีระบบโทรทัศน์แบบดิจิตอล จะส่งผลให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ในภาคการผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งความท้าทายคือผู้ผลิตรายการใหม่ ๆ รวมถึงผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลจะสามารถหารายได้ให้พอเพียงกับค่าดำเนินการในช่วง 3-5 ปีแรกได้หรือไม่