แนวคิดหนึ่งที่น่าศึกษาจากประเทศอินเดียก็คือ นโยบายการผลักดันให้ทุกๆ เมืองของอินเดียเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยผู้นำอินเดียประกาศจะสร้างเมืองอัจริยะใหได้ 100 เมือง ภายในปี 2565
20 เมืองของประเทศอินเดีย ถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่มีมาตรฐานการดำรงชีวิตเทียบเท่ากับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป โดยอินเดียได้ลงทุนในโครงการดังกล่าวนี้ถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบๆ 270,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้า น้ำประปา สุขาภิบาล และการขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย
เป็นทราบกันดีว่าหลายเมืองของอินเดีย ยังขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน แม้กระทั่งห้องน้ำ ทั้งนี้ใน 20 เมืองที่อินเดียประกาศจะแปลงโฉมให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ยังอยู่ในอันดับรายชื่อเมืองที่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้เป็นเมืองที่มีมลภาวะมากที่สุดในโลก นำโดยกรุงนิวเดลี
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ประกาศจะสร้างเมืองอัจฉริยะใหม่ให้ได้ถึง 100 เมืองทั่วประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2565 โดยการบริหารปกครองเมืองเหล่านี้จะเชื่อมต่อถึงกันด้วยระบบอินเทอร์เน็ต มีสาธารณูปโภคได้มาตรฐาน เช่น การบริหารจัดการขยะ และระบบการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้เกิดการลงทุนตามมา
รัฐบาลกลางในกรุงนิวเดลี กำลังพยายามหาแนวทางผ่านกฎหมาย ปฏิรูปในรัฐสภา เพื่อทำให้ง่ายขึ้นสำหรับการถือครองที่ดิน และสร้างถนน แต่เบื้องต้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า รัฐบาลจะใช้วิธีการอย่างไรในการจัดสรร ระบบสาธารณูปโภคคุณภาพสูงแก่เมืองอัจฉริยะเหล่านี้ภายในเวลา 5 ปีตามแผน ซึ่งใน 20 เมืองนี้ มีประชากรอาศัยอยู่ราว 35 ล้านคน