เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ภาพการแถลงข่าวเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ลงใน Facebook ส่วนตัว พร้อมกับระบุข้อความการแถลงข่าวว่า “คำต่อคำผลการประชุม สส. นัดพิเศษ ของพรรคประชาธิปัตย์” มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
8 ธ.ค. 2556 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุม สส. ของพรรคฯ ว่า เมื่อเช้านี้ได้มีการเรียกประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อที่จะมาประเมินสถานการณ์ และการกำหนดบทบาท จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่พี่น้องประชาชนจำนวนมากได้มาแสดงออกในการชุมนุม ในการเรียกร้องจนกระทั่งเข้าสู่สถานการณ์ที่ทุกฝ่ายก็ตระหนักดีอยู่ว่าเข้าขั้นที่เป็นวิกฤติที่มีความจำเป็นที่จะต้องหาทางออกให้กับประเทศ
พรรคประชาธิปัตย์ได้ย้ำมาตลอดว่า เราจะทำหน้าที่ทั้งใน และนอกสภาผู้แทนราษฎร ในการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม และรักษานิติรัฐ นิติธรรม ตลอดจนการปกป้องระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ
การทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรนั้น เราได้ทำอย่างเต็มความสามารถ พยายามที่จะใช้สิทธิ์ในฐานะเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เวลาที่รัฐบาลมีการผลักดันกฎหมาย หรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เห็นได้ชัดว่าขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม และเป็นการทำลายระบบ การต่อสู้ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฯ ในการตรวจสอบ ผมมั่นใจว่า พี่น้องประชาชนได้เห็นการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรของเราอย่างเต็มที่
ในหลายกรณี แม้ว่าในที่สุด รัฐบาลจะอาศัยเสียงข้างมาก ในการที่ผลักดันไม่ว่าจะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งคนต่อต้านกันทั้งประเทศ มีเป้าหมายเพียงเพื่อที่จะล้างผิดให้กับคนโกง และคนที่ก่อคดีที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในลักษณะที่มีการฉ้อฉล ในการใช้อำนาจ ที่สุดการยับยั้งกฎหมายก็ดี หรือการนำไปสู่กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบ ก็สามารถที่จะระงับยับยั้งความเสียหายได้ส่วนหนึ่ง
แต่ในขณะที่เราได้ดำเนินการเช่นนั้นแล้ว เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว กลับปรากฏว่า นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล ตลอดจนพรรคเพื่อไทย ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ หรือสำนึกใดๆ ต่อความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม นอกจากจะไม่แสดงสำนึก หรือความรับผิดชอบแล้ว กลับประกาศท้าทาย ไม่ยอมรับอำนาจศาล และยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะใช้กลไกของสภา ในการกระทำผิดเพิ่มเติมหรือในการที่จะแสดงออกถึงความไม่ยอมรับในบทบาทหน้าที่ของศาล และองค์กรตรวจสอบต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการที่พรรคเพื่อไทย นอกจากจะแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลแล้ว นายกรัฐมนตรีก็ไม่ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ และยังมีประธานสภา ที่ร่วมกับสมาชิกรัฐสภาอีกจำนวนหนึ่ง กลับไปแจ้งความต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินการกับตุลาการเสียงข้างมาก แทนที่จะใช้กระบวนการของการถอดถอน ถ้าเห็นว่ามีการกระทำซึ่งฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อย่างนี้เป็นต้น
บทบาทของพรรคในระบบของสภานี้ เราได้ทำเต็มความสามารถ และงานชิ้นสุดท้ายที่เราถือว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ก็คือการที่พวกเราได้เข้าชื่อกันเพื่อร้องให้มีการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา 314 ท่านในกรณีที่มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือผิดรัฐธรรมนูญ ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยได้เข้าชื่อกันเพื่อให้ประธานวุฒิสภานั้น ส่งเรื่องไปให้ ปปช. เพื่อดำเนินการตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญต่อไป ความสมบูรณ์ของคำร้องนี้ที่ส่งไปยัง ปปช. เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ในที่สุดหลังจากที่ผมก็ได้ให้สมาชิกไปติดตามทางท่านประธานวุฒิสภา ก็ได้ส่งหนังสือออกไป แล้วก็ถึง ปปช. เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการดำเนินการตามคำร้องนี้ก็สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญต่อไป
กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พรรคฯ ก็ได้แสดงจุดยืนมาตลอดว่า การจะแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ตาม ต้องเริ่มต้นจากการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะรัฐบาล และสภา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการก่อปัญหาทั้งหมดนี้ยังคงพยายามที่จะดำเนินการต่อไปโดยปราศจากความชอบธรรม เราได้เรียกร้องตรงนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ไม่ปรากฏว่ามีการตอบสนอง และยังปรากฏด้วยซ้ำว่า รัฐบาลก็ดี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ฝ่ายเสียงข้างมากก็ดี ยังมีความพยายามดำเนินการในทุกวิถีทางในการที่จะบิดเบือนสถานการณ์ความเป็นจริง และพยายามจะอาศัยกลไกต่างๆ ในการยื้อเวลา เพียงเพื่อที่จะไม่แสดงความรับผิดชอบ หรือครองอำนาจต่อไป
แม้กระทั่งล่าสุดที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อประชาชนเมื่อบ่าย ก็เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ยังคงมีความพยายามที่จะหาทางดำรงตนอยู่ในอำนาจ แล้วก็อ้างกระบวนการที่ทราบเป็นอย่างดีว่า มีความคลุมเครือ มีความไม่ชัดเจน หรือจะทำให้เกิดความยืดเยื้อ ของความขัดแย้งของปัญหาต่างๆ เช่น การเสนอให้มีการทำประชามติ ซึ่งยังไม่มีใครทราบเลยว่า จะไปถามประชามติว่าอะไร อย่างไร และเหตุใดรัฐบาลนี้จะยังคงมีความชอบธรรมในการเป็นผู้จัดทำประชามติเช่นนั้น
ผมเรียนเพิ่มเติมครับว่า ความไม่ชอบธรรมตรงนี้ รัฐบาลพยายามเบี่ยงเบนอยู่ตลอดเวลาว่า เหตุใดจึงแสดงความรับผิดชอบไม่ได้ เช่น อ้างผู้ชุมนุม หรือแกนนำผู้ชุมนุม เกรงว่าจะไม่ยอมรับ ผมได้เคยแสดงข้อความผ่านทางเฟสบุคโดยส่วนตัวไปแล้วว่า คนเป็นนายกรัฐมนตรีที่รู้ว่ารัฐบาลได้แสดงความผิด หมดความชอบธรรม สมควรจะแสดงความรับผิดชอบ โดยไม่ต้องไปอ้างว่าผู้ชุมนุม หรือแกนนำผู้ชุมนุม จะมีความคิดเห็นอย่างไร ต่อการแสดงความรับผิดชอบเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่พึงกระทำและสังคมจะเป็นผู้หาคำตอบต่อไป
วันนี้เช่นเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็แถลงอีก เสมือนว่าจะพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบ แต่พยายามตั้งเงื่อนไขกับคนอื่นตลอดเวลา และยังมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปี 2549 ด้วย ขออนุญาตสั้นๆ เกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิด เช่น อ้างว่า ถ้ามีการยุบสภา แล้วปรากฏว่า พรรคการเมืองใหญ่ไม่ร่วมมือ ความจริงวันนั้นพรรคการเมืองทุกพรรคในสภา ตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งนะครับ ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แล้วจะนำไปสู่เหตุการณ์อย่างเช่น เหตุการณ์อย่างเช่นการรัฐประหารอีก ผมต้องขอทบทวนความจำ วันนั้นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่ได้อยู่ในการเมืองนะครับ ก่อนรัฐประหารนั้น หลังจากที่มีการเลือกตั้งครั้งแรก และศาลตัดสินว่าเป็นโมฆะเพราะพรรคไทยรักไทย ซึ่งในทางปฏิบัติก็เหมือนกับลงสมัครอยู่พรรคเดียว แต่ยังทุจริต ก็มีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ประกาศชัดเจนว่า ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เหตุการณ์ที่นำไปสู่การรัฐประหารคือเหตุการณ์ที่รัฐบาลในขณะนั้น ระดมผู้สนับสนุนของตนเอง ออกมาซึ่งทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกับบรรดาผู้ชุมนุมซึ่งต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นวันนี้นายกรัฐมนตรี ไม่มีข้ออ้าง ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ที่จะไม่เดินหน้าแก้ปัญหาให้กับประเทศ โดยการแสดงความรับผิดชอบ ผมและพรรคประชาธิปัตย์รอคอยการแสดงความรับผิดชอบ แล้วก็ทำหน้าที่ของเราในสภาจนถึงที่สุด วันนี้เมื่อทบทวนสถานการณ์กัน ที่ประชุมก็เห็นพ้องต้องกันครับว่า มันหมดเวลาแล้ว ที่เราจะรอคอย และก็ไม่มีอะไรที่เราจะทำได้เพิ่มเติมมากไปกว่านี้อีก นอกจากจะยืนยันความไม่ชอบธรรมของสภาแล้ว เราเสียใจที่สภาที่ประกอบไปด้วยปวงชนชาวไทย เสียงข้างมาก ทรยศต่อความไว้วางใจ ที่พี่น้องประชาชนมอบให้มา แต่ยังพยายามที่จะอ้างความชอบธรรมของการมาจากการเลือกตั้งในการที่จะไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ
พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ประสงค์จะเห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงยึดมั่นในระบบรัฐสภา แต่ระบบรัฐสภาในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก มันมาพร้อมกับสำนึก และความรับผิดชอบ เมื่อใดก็ตามที่ปรากฏเห็นได้ชัดว่ามีการสูญเสียความไว้วางใจในวงกว้าง มีการกระทำความผิดถึงขั้นกระทำผิดกฎหมาย กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ทั่วโลกคนที่อยู่ในระบบรัฐสภานั้น ต้องแสดงความรับผิดชอบเพื่อรักษาระบบสภา ไม่ใช่เอาระบบสภา มาเป็นตัวประกัน มาบังหน้า ความประสงค์ในการอยู่ในอำนาจของตัวเองอีกต่อไป
วันนี้อาจจะมีความคิดเห็นที่หลากหลายว่า ความต้องการของประชาชน ทั้งที่ชุมนุม หรือไม่ชุมนุมจะเป็นอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงจุดยืนว่า เราสนับสนุนการแสดงความรับผิดชอบ การคืนอำนาจให้แก่ประชาชน และเราสนับสนุนกระบวนการของการปฏิรูปประเทศ แต่เรายอมรับว่าความหลากหลายในเรื่องของรูปแบบ วิธีการที่จะดำเนินการดำรงอยู่ในสังคมนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ผมก็ถือว่า มีนักวิชาการบางท่านได้เปรียบเทียบ ผมก็เอามาประยุกต์ให้เห็นว่า ถ้าบ้านเมืองของเรา หรือระบบสภาของเรานี้เปรียบเสมือนบ้าน เมื่อปี 2554 เจ้าของบ้านคือประชาชน ได้มอบหมายให้เสียงข้างมากปัจจุบันเป็นผู้ดูแลบ้าน ส่งพวกกระผมเข้าไปช่วยตรวจสอบ ร่วมอยู่ในนั้น คนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลบ้าน จุดไฟเผาบ้าน และลักขโมยเสียเอง ถูกจับได้ ถูกตรวจสอบ ประชาชนบอกว่าคุณไม่มีความชอบธรรมที่จะดูแลบ้านอีกต่อไป วันนี้คนที่ได้รับมอบหมายที่กลายเป็นขโมย และจุดไฟเผา กลับพยายามมาบอกว่า ไม่รู้ว่าหลังไฟไหม้แล้ว บ้านจะหน้าตาเป็นอย่างไร จะต้องสร้างกันอย่างไร พวกผมบอกว่ามันไม่ใช่เวลา หน้าที่ของท่านแล้ว วันนี้ต้องดับไฟ ไล่ขโมยออกไปก่อน แล้วสังคม เจ้าของบ้าน เขาจะให้คำตอบเองว่า เราจะฟื้นฟู รักษาบ้านหลังนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าเราปล่อยให้คนที่มาดูแลรักษาบ้านที่กลายเป็นขโมย เพิกเฉย บ้านก็จะสูญเสียไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะรักษาอะไรไว้ไม่ได้เลย
การตัดสินใจของพวกผมในวันนี้ จึงเป็นการตัดสินใจเพื่อรักษามาตรฐานของความรับผิดชอบในระบบรัฐสภา พวกผมแสดงออกแล้ว เหลือแต่เสียงข้างมากและรัฐบาลนี้ ที่ยังไม่ยอมสำนึก และรับรู้ต่อความรู้สึกที่เกิดการกระทำความผิด โดยเอาระบบรัฐสภามาแอบอ้าง เราตัดสินใจครั้งนี้ โดยยึดมั่นในกฎ กติกา ระบบ เราตัดสินใจครั้งนี้ ยืนยันว่า ได้มองประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ไม่มีประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง
และที่ผมย้ำว่า เราไม่สนับสนุนสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นนอกรัฐธรรมนูญ ผมให้ความมั่นใจว่า แม้ว่าจะออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ผม โดยเฉพาะ และผมเชื่อว่า ผมพูดแทนเพื่อสมาชิกที่ลาออกในวันนี้ ยืนยันว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามกลไกปกติตามรัฐธรรมนูญ ตามระบบรัฐสภา พวกกระผมจะไม่เข้าไปรับตำแหน่ง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น กับเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ อันนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใส่ร้ายป้ายสีอย่างต่อเนื่องกับการตัดสินใจของพวกผม
ฉะนั้นวันนี้ พวกเราทุกคนได้ปรึกษาหารือกันด้วยความรอบคอบ รับฟังความคิดเห็นแง่มุมที่หลากหลาย ใช้เวลาหลายชั่วโมงครับ ไม่ได้ตัดสินด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ด้วยกระแส แต่ตัดสินใจกันด้วยสำนึก ยึดประโยชน์ส่วนรวมและมาตรฐาน ของความรับผิดชอบซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ตั้งจึงได้พร้อมใจกันที่จะลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันนี้ และเรียกร้องว่าถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม กับความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น