นักวิชาการมองว่าคำตัดสินในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้สภาต้องระวังการแก้กฎหมายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถยื่นถอดถอนต่อวุฒิสภาและ ปปช.เพื่อเอาผิดทางอาญาได้
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวถึงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นแก้ไขที่มาของ ส.ว.ในวันนี้ว่า ศาลใช้อำนาจอย่างกว้าง โดยไม่ได้เจาะจงแค่มาตรา 68 แต่ใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรามาประกอบการตัดสิน คำตัดสินในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต คือศาลจะมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญมากขึ้น ขณะที่ ส.ส. และ ส.ว. จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น
คำตัดสินในวันนี้ศาลมองว่ามีการทำผิดกฎหมายในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา เช่นการรวบรัดตัดตอนการเสียบบัตรแทนกัน แต่ขณะเดียวกันศาลก็ไม่ได้สั่งให้ยับยั้งการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ เพราะถือว่าจบกระบวนการไปแล้ว
ขณะที่ นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บอกว่า แม้ศาลจะไม่ชี้ชัดเรื่องบทลงโทษ แต่กรณีดังกล่าวขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
ซึ่งประเด็นดังกล่าว หากมีผู้ต้องการที่จะดำเนินการต่อก็สามารถทำได้ใน 2 ช่องทางที่จะดำเนินการได้ คือ
1. สามารถยื่นถอดถอน ส.ส. และ ส.ว.312 คนต่อวุฒิสภาได้
2. ยื่น ป.ป.ช.เพื่อดำเนินคดีอาญาฐานทุจริต เพื่อส่งต่อให้ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง