'เฉลิม'เชื่อรบ.ผ่านวิกฤตได้ จวก'สุเทพ'ขาดสติตั้งศาลปชช.
logo ข่าวอัพเดท

'เฉลิม'เชื่อรบ.ผ่านวิกฤตได้ จวก'สุเทพ'ขาดสติตั้งศาลปชช.

4,843 ครั้ง
|
09 พ.ย. 2556

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เชื่อรัฐบาลสามารถผ่านวิกฤต การชุมนุมต้านนิรโทษกรรมได้  จวก'สุเทพ'พูดไม่คิด ตั้งศาลประชาชน ชี้ปชป.หาทางกลับมาเป็นรัฐบาล

 

 

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่เวทีราชดำเนิน ของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ โดยเห็นว่าเหตุที่การประชุมวุฒิสภาล่มเมื่อวานนี้ มาจากกลุ่มสว.ที่ยึดติดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข แต่อยากให้เหตุการณ์ยืดเยื้อและบานปลายออกไปอีก

 

 

สำหรับการประกาศตั้งศาลประชาชนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อตัดสินคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ขินวัตรและนายกรัฐมนตรี เป็นการพูดแบบขาดสติ ขาดความยั้งคิด ดูหนังจีนมากเกินไปคิดว่าตัวเองเป็นเปาบุ้นจิ้น ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ทั้งนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ ต้องไปขึ้นศาลอาญาในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ในข้อหาสั่งฆ่าประชาชน

 

 

โดยในวันนี้นายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล ได้ออกแถลงการณ์ แสดงถึงจุดยืนชัดเจน ว่าจะหยิบยกร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ขึ้นมาอีกไม่ว่ากรณีใดๆ ซึ่งการที่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงปลุกม็อบหวังขับไล่รัฐบาล แต่ไม่ต้องการให้ยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออก เพราะทราบดีว่า หากเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยก็ยังได้รับชัยชนะเหมือนเดิม

 

 

โดยพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้เกิดแนวทางที่ 3 คือ การกลับมาเป็นรัฐบาลในลักษณะที่คล้ายกับครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะวันนี้พรรคเพื่อไทย มีความเป็นเอกภาพ เชื่อว่าหลังจากนี้ประชาชนจะเริ่มเข้าใจ แม้ม็อบจะยังยืดเยื้อ แต่จำนวนคนจะค่อยๆลดลง มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้และบริหารประเทศต่อไปตราบใดที่ไม่มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่น

 

 

โดยยอมรับว่าม็อบพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ มีการบริหารจัดการที่ดีที่สุดตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา โดยมีกลุ่มทุนสนับสนุนกลุ่มเดียวกับการชุมนุมเมื่อปี 2549 มีเงินหมุนเวียนกว่า 2 ล้านบาทต่อวัน และการที่เกิดเหตุบานปลายมาจนถึงทุกวันนี้ มองว่าเป็นการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง

 

 

ทั้งนี้เชื่อว่าการชุมนุมจะไม่สำเร็จ หากรัฐบาลสามารถรักษาระดับไว้ได้ โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เนื่องจากการยุบสภาควรจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อเกิดความขัดแย้งในสภา จนไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้เท่านั้น