วสท.ระบุโบสถ์วัดต้นเชือก จังหวัดนนทบุรี พังถล่ม สาเหตุจากแม่แรงทานน้ำหนักไม่ไหว แนะช่างต้องเรียนรู้วิธีการดีดอาคารที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เตรียมเสนอแก้กฏหมาย ให้งานยกอาคาร หรือดีดอาคารเป็นงานวิศวกรรมควบคุม เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของพระอุโบสถวัดต้นเชือก จังหวัดนนทบุรี ที่พังถล่มระหว่างดีดอาคารเมื่อวาน พบว่า อุโบสถสร้างมาประมาณ 60ปี ลักษณะโครงสร้างมีเสา คาน โครงสร้างปูน ไม้ ทั่วไป ซึ่งมีน้ำท่วมทุกปีจึงต้องการยกอาคารให้สูงประมาณ 4เมตร ขณะทำการยกอาคารโดยใช้แม่แรงไปได้ประมาณ 3เมตร แม่แรงตัวหนึ่งทานน้ำหนักไม่ไหวหรืออาจบกพร่อง ทำให้แม่แรงแตก รับน้ำหนักไม่ไหว อาคารจึงถล่มลงมา
ด้าน รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมโยธา วสท.กล่าวว่า ปกติการก่อสร้างต่างๆ มีกฏกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ.2550 กำหนดลักษณะงาน 6ประเภท ยกเว้นงานยกอาอาคาร ที่ไม่ต้องมีวิศวกรรมควบคุม สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งวัดซึ่งเป็นนิติบุคคลได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตในการก่อสร้างหรือยกอาคาร เพียงแต่แจ้งว่าจะดำเนินการ ขณะนี้ วสท. เตรียมเสนอแก้กฏหมายเพื่อกำหนดงานยกและเคลื่อนย้ายอาคาร เป็นงานวิศกรรมควบคุม สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ขณะที่นายธเนศ วีระศิริ ที่ปรึกษาเลขาธิการวสท. กล่าวว่าขั้นตอนขณะยกอาคาร ต้องยกให้พร้อมกันทั้งหลัง ป้องกันไม่ให้เกิดการดึงรั้งขณะยกอาคารและขั้นตอนการค้ำยันต้องค้ำยันให้อาคารมีเสถียรภาพ และฐานรองรับหรือเสาเข็มที่รองรับต้องมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่เกิดความเสียหายเหตุในจากขั้นตอนนี้ รวมถึงกรณีโบสถ์วัดต้นเชือก โดยการยกอาคารที่นิยมทำกันมากคือการดีดอาคารหรือดีดบ้านเพื่อเพิ่มความสูงของชั้นล่างให้มากขึ้น และการยกอาคาร เป็นการยกโดยใช้หลักวิศวกรรมทำการยกอาคารด้วยแม่แรงไฮดรอลิก ยกอาคารจากใต้คานคอดิน ยกให้สูงขึ้นตามต้องการ การยกวิธีนี้จะไม่ทำให้ความสูงของแต่ละชั้นมีความเปลี่ยนแปลง ตัวบ้านทั้งหลังจะถูกยกสูงขึ้นตามระดับที่ต้องการ ซึ่งเป็นการยกอาคารที่ถูกต้องตามหลักการวิศวกรรมใช้กับอาคารได้ทุกชนิด ทั้งบ้านไม้ อาคารก่ออิฐ อาคารเหล็กและอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งหลังจากนี้จะเปิดอบรมช่างทั่วไป ให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพื้นฐานการถ่ายน้ำหนักค้ำยันที่ถูกต้อง ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ