เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยหลายธนาคารได้ตอบรับและประกาศมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
แนวทางการช่วยเหลือจาก ธปท.
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงิน ให้พิจารณาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยเร่งด่วน โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้
1. สินเชื่อบัตรเครดิต - สามารถปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำให้ต่ำกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนด เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน นับจากวันที่พื้นที่นั้นถูกประกาศเป็นเขตประสบสาธารณภัย
2. สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อดิจิทัล - สามารถพิจารณาเงื่อนไขวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินให้เกินกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนด เพื่อให้ลูกหนี้มีแหล่งเงินทุนฉุกเฉินเพียงพอ โดยให้อนุมัติวงเงินให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน
3. สินเชื่อทุกประเภท - สามารถให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่อง เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือดำเนินธุรกิจต่อได้ รวมถึงการปรับเงื่อนไข เช่น ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้
ทั้งนี้ ระหว่างการให้ความช่วยเหลือ ธปท. จะผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ให้คงการจัดชั้นเดิมเช่นเดียวกับก่อนประสบสาธารณภัย
มาตรการช่วยเหลือจากธนาคารต่าง ๆ
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
สำหรับลูกค้าปัจจุบัน
- ลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี
- พักชำระหนี้นาน 3 เดือน
- ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0% ต่อปี ใน 3 เดือนแรก
- เดือนที่ 4-12 คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2% ต่อปี
- ลดเงินงวดลง 50% ของเงินงวดที่ชำระในปัจจุบัน
สำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่
- กู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซม หรือปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม
- วงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 2 ล้านบาท
- อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1-3 เท่ากับ 0% ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด
- อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 4-24 เท่ากับ 2% ต่อปี
ธนาคารกสิกรไทย
1. สินเชื่อบ้าน
- พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน
- สินเชื่อบ้านกู้เพิ่มได้เพื่อซ่อมแซมบ้าน อัตราดอกเบี้ย 0% 3 เดือน ฟรีค่าประเมินหลักประกัน
2. บัตรเครดิต สินเชื่อเงินด่วน และบัตรเงินด่วน
- พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน
3. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
- ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 50% เป็นเวลา 3 เดือน
- ขยายระยะเวลาผ่อน 3 เดือน
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น
- ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน
- เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราวสูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม (ไม่เกิน 2 ล้านบาท) โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม
- เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี
มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว
- ขยายระยะเวลาวงเงินกู้ สูงสุด 7 ปี
- ปรับลดอัตราดอกเบี้ยปีแรกลง 0.5% หรือจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50% ในช่วง 6 เดือนแรก
- พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี
- Top up วงเงินสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ธนาคารออมสิน
มาตรการแบ่งเบาภาระลูกหนี้ปัจจุบัน
- สำหรับสินเชื่อบ้าน สินเชื่อธนาคารประชาชน และสินเชื่อ SMEs
- พักชำระเงินต้นทั้งหมด และลดดอกเบี้ยเหลือ 0% สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
มาตรการสินเชื่อเพื่อกู้ซ่อมแซมบ้าน กู้ฟื้นฟูกิจการ
- สินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้สูงสุด 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
- สินเชื่อกู้ซ่อมแซมบ้าน และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการ อัตราดอกเบี้ย 0% สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
มาตรการไอแบงก์ไม่ทิ้งกัน
- ลูกค้าเดิม พักชำระเงินต้นและกำไรสูงสุด 6 เดือน
- ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือฟื้นฟูกิจการ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตรากำไรต่ำสุด 1.99% ในปีแรก และระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 20 ปี
ธนาคารกรุงไทย
มาตรการแบ่งเบาภาระลูกค้าสินเชื่อปัจจุบัน
- ลดค่างวด 75% ของค่างวดปัจจุบัน (ชำระเพียง 25%) เป็นระยะเวลา 1 ปี
- ลูกหนี้บ้านและ SMEs คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 33 เดือน
- ลูกหนี้บุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี
มาตรการสินเชื่อเพื่อกู้ซ่อมบ้าน กู้ฟื้นฟูกิจการ
- ลูกค้าบ้าน และ SMEs คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 33 เดือน
- ลูกค้าบุคคล คิดดอกเบี้ยคงที่ 4.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR
- โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายในวงกว้าง สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทยได้ร่วมกันออกมาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน ผ่านการพักชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย และการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อสถาบันการเงินที่ตนเป็นลูกค้าเพื่อขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเองต่อไป
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-8.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital