ข่าวเย็นประเด็นร้อน - สคบ.เผยผลสอบทองร้านแม่ตั๊ก พบเป็นทองจริง แต่อาจเข้าข่ายความผิดเรื่องฉลาก ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลกับผู้บริโภคให้ครบถ้วน
สคบ.แถลงผลสอบทอง แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์
นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผอ.คุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. แถลงผลการตรวจสอบทองที่เก็บตัวอย่างจากร้านทองของ นางสาวกรกนก หรือ แม่ตั๊ก และนายกานต์พล หรือ ป๋าเบียร์ ซึ่ง สคบ.ได้ส่งตัวอย่างทองทั้งหมด 6 ตัวอย่าง ไปตรวจสอบที่สถาบันอัญมณี ได้ตรวจทั้ง 2 แบบ คือ แบบเอกซเรย์และแบบเผา โดยผลการตรวจสอบพบว่า
1. ทองรูปพรรณประเภทสร้อยคอ น้ำหนัก 1.89 กรัม จำนวน 2 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 97.55 ผลจากการหลอมอยู่ที่ 92.78
2. ทองรูปพรรณประเภทกำไลข้อมือ น้ำหนัก 6 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 96.00 ผลจากการหลอมอยู่ที่ 94.44
3. ทองรูปพรรณประเภทกำไลข้อมือ จำนวน 8 ตัว น้ำหนัก 4.96 กรัม ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 99.99 ผลจากการหลอมอยู่ที่ 99.97
4. ทองรูปพรรณประเภทกำไลข้อมือ น้ำหนัก 0.77 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 99.99 ผลจากการหลอมอยู่ที่ 99.97
5. ทองรูปพรรณประเภท ลูกปัด จำนวน 8 เม็ด น้ำหนัก 1.19 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 71.15 ผลจากการหลอมอยู่ที่ 61.45
6. ทองรูปพรรณประเภทจี้ น้ำหนัก 11.13 กรัม จำนวน 1 ตัวอย่าง ผลจากการเอกซเรย์ได้ผลอยู่ที่ 99.99 จากการหลอมอยู่ที่ 99.95
ทั้งนี้ หากดูพฤติการณ์พบว่าเข้าข่ายความผิดเรื่องฉลาก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค คือไม่ระบุฉลากสินค้า ที่ครบถ้วนต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม จะมีการเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจมีโอกาสได้ชี้แจง เพื่อความเป็นธรรม โดยประเด็นการโฆษณาการขายสินค้า การใช้ถ้อยคำ ในการไลฟ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ จะมีคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาตรวจสอบต่อไป ส่วนเรื่องของแถม ที่มีการอ้างว่าทอง 99.99 สคบ.อยู่ระหว่างขอตัวอย่างจากผู้บริโภคเพื่อเก็บตัวอย่างมาเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ และจะส่งให้สถาบันวิจัยอัญมณีแห่งชาติตรวจสอบอีกครั้ง
ผอ. คุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ.ยังระบุ ล่าสุดมียอดผู้ร้องเรียน 40 คน เชื่อว่ายอดจะเพิ่มขึ้นอีก โดย สคบ.จะเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียน และประสานกับผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการเยียวยา และย้ำว่ากรณีนี้ ส่วนของการเอาผิดแพ่งและอาญา คนละส่วน หากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย แม้ได้รับการเยียวยาแล้ว ก็สามารถมาแจ้งดำเนินการทางอาญาได้
โดย สคบ. จะขยายผลตรวจสอบไปยังร้านค้าที่มีการไลฟ์ในลักษณะดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีการไลฟ์ขายของจำนวนมาก สคบ. มีทีมในการมอนิเตอร์ตรวจสอบ ผู้ที่ไลฟ์หากเข้าข่ายสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคก็จะมีการดำเนินการในส่วนนี้เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำ
แกะสินค้าเช็กของก่อนจ่ายเงิน
สคบ. ออกกฎหมายใหม่ แกะดูสินค้าก่อนได้ แล้วค่อยจ่ายเงิน ซึ่งมีผลบังคับแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ โดย สคบ. ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าแบบบริการเรียกเก็บเงินปลายทาง โดยผู้บริโภคสามารถเปิดเช็คสินค้าก่อนได้ และเมื่อเจอสินค้าไม่ตรงปก ยังขอเรียกเงินคืนได้ด้วย
ทั้งนี้ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม ช่วยปกป้องผู้บริโภคจากผู้หลอกลวงจำหน่ายสินค้าไม่ตรงปก สินค้าชำรุด หรือหลอกส่งสินค้า
โดยสามารถปฏิเสธการรับสินค้าและไม่ต้องชำระเงินได้ หรือหากผู้บริโภคเปิดกล่องสินค้าภายหลังจากที่ชำระเงินไปแล้ว พบปัญหา สินค้าไม่ตรงปก ชำรุด หรือไม่ได้สั่ง สามารถแจ้งขอเงินคืนได้ภายใน 5 วัน
ส่วนผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้า ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ ผู้ส่งสินค้า-ผู้ประกอบธุรกิจ-ชื่อสกุล ผู้รับเงินหมายเลขติดตามพัสดุให้ชัดเจน และผู้ให้บริการขนส่งสินค้าต้องถือเงินค่าสินค้าเป็นระยะเวลา 5 วัน ก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนได้ สามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ หากพบว่ามีปัญหา สามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35