เพราะอะไร ? เวลาดีใจ หรือ เวลาเสียใจ คนเราถึงต้องร้องไห้
logo ข่าวอัพเดท

เพราะอะไร ? เวลาดีใจ หรือ เวลาเสียใจ คนเราถึงต้องร้องไห้

ข่าวอัพเดท : ทุก ๆ คนบนโลกคงจะเคยร้องไห้กันมาก่อนแล้วทั้งนั้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เสียใจ ดีใจ เจ็บปวด หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็น ดีใจ,ร้องไห้,เสียใจ,ทำไม

1,010 ครั้ง
|
30 ส.ค. 2567

ทุก ๆ คนบนโลกคงจะเคยร้องไห้กันมาก่อนแล้วทั้งนั้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เสียใจ ดีใจ เจ็บปวด หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นเหตุผลให้ใครหลายคนสงสัยว่า ทำไมเวลาคนเราอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้นถึงต้องร้องไห้ออกมา

เมื่อพูดถึง “การร้องไห้” สิ่งที่เราจะมาทำความรู้จักกันก่อนก็ คือ “น้ำตา” ซึ่งสิ่งนี้แม้ว่าภายนอกจะมีลักษณะใส เหมือนกับน้ำเปล่าแต่ภายในนั้นกลับประกอบไปด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ไขมัน เอนไซม์ เกลือแร่ เป็นต้น โดยน้ำตานั้นจะถูกผลิตจากสิ่งที่เรียกว่า “ต่อมน้ำตา” ซึ่งอยู่บริเวณเหนือดวงตาในแต่ละข้าง และเมื่อออกมาแล้วจะค่อย ๆ ไหลกลับไปยังหลุมเล็ก ๆ ที่อยู่บริเวณมุมเปลือกตาชั้นบนและชั้นล่าง

สาเหตุหลักๆ โดยปกติที่คนเราจะมีการหลั่งน้ำตาออกมา 3 สาเหตุ คือ

1. การหลั่งเพื่อหล่อเลี้ยงตา เป็นการหลั่งน้ำตาเพื่อปกป้องตาไม่ให้แห้ง และปกป้องตาจากฝุ่นละอองต่าง ๆ

2. การหลั่งจากสิ่งเร้าภายนอก คือ การหลั่งเพื่อกำจัดสารหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ตา โดยอาจประกอบด้วยสารภูมิต้านทานเพื่อใช้ช่วยต่อสู้กับแบคทีเรีย

3. การหลั่งจากอารมณ์ความรู้สึก เป็นการหลั่งที่เกิดขึ้นจากการเกิดอารมณ์ต่าง ๆ อย่างรุนแรง เช่น เสียใจ หรือดีใจ โดยน้ำตาชนิดนี้มีส่วนประกอบของโปรตีนและฮอร์โมนอยู่ด้วย เราก็จะมาศึกษาการหลั่งน้ำตาว่าเป็นมาอย่างไร ?

การหลั่งน้ำตาจากอารมณ์ความรู้สึก จะเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของระบบน้ำตาและสมองส่วนลิมบิก (เป็นกลุ่มของส่วนสมองที่อยู่ตามแนวโค้งระหว่างทาลามัสและซีรีบรัล คอร์เท็กซ์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นหรือตอบสนองทางอารมณ์) โดยเมื่อเกิดอารมณ์หรือความรู้สึกบางอย่างที่ค่อนข้างรุนแรง สมองส่วนนี้จะส่งสัญญาณไปยังส่วนของก้านสมองที่เรียกว่าพอนส์ และส่งต่อไปยังระบบน้ำตาเพื่อให้ผลิตน้ำตาออกมา

ดังนั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำตาที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกมีส่วนประกอบของโปรตีนและฮอร์โมนปนอยู่

มาถึงตรงนี้ก็คงหายสงสัยกันแล้ว ว่าทำไมเวลาเราดีใจหรือเสียใจถึงต้องร้องไห้ออกมา นั่นก็เพราะฮอร์โมนที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกเหล่านี้ไปกระตุ้นต่อมน้ำตาของเราผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างระบบสมองและระบบน้ำตา รู้แบบนี้แล้วอย่าลืมส่งต่อความรู้ให้กับคนอื่นด้วยนะคะ

อ้างอิง https://www.independent.co.uk/life-style/crying-science-why-tears-b2157912.html