ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ช่วง 15.00 น. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัย กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน จะสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ โดยตัวแทนกลุ่มอดีต 40 สว. ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน นายเศรษฐา ออกจากนายกฯ ได้เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยด้วย
อดีต 40 สว.ร่วมฟังคำวินิจฉัยคดีถอดถอน เศรษฐา
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายสมชาย แสวงการ และ นายประพันธ์ คูณมี ในฐานะตัวแทนอดีต 40 สว. ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้เดินทางมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมฟังคำวินิจฉัยของศาล กรณีขอให้วินิจฉัยการถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ทั้ง 3 คน ไม่ได้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด
เศรษฐา ทวีสิน ประวัติช่วงเช้า ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำนิจฉัย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจอดรถลงมาทักทายกับสื่อมวลชนที่มารอสัมภาษณ์จำนวนมาก โดยนายกฯ สวมเสื้อสูทสีเทา ทักทายสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี พร้อมบอกว่าเมื่อคืนนี้นอนหลับสบายดี โดยช่วงเช้าก่อนเข้าทำเนียบรัฐบาล ได้เดินทางไปทำบุญที่วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเป็นวัดที่ทำพิธีฌาปนกิจของให้กับ นางชดช้อย ทวีสิน มารดา
นายกฯ ยอมรับว่าขณะนี้กังวลทุกเรื่อง กังวลตลอดเวลา แต่ไม่ได้อยู่ในมือตนแล้ว ก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยวันนี้จะทำงานตามปกติ ซึ่งหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอีกครั้ง
ภารกิจในช่วงเช้า ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประธานผู้แทนการค้าไทย และเลขาธิการ BOI เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของทูตพาณิชย์
เศรษฐา อารมณ์ดี เดินตลาดใต้ทางด่วน
จากนั้นช่วง 11.50 น. นายเศรษฐา เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตลาดใต้ทางด่วนเพลินจิต เดินทักทายพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โดยประชาชนให้ความสนใจนำมือถือมาถ่ายรูป บางรายตะโกนให้กำลังใจ โดยนายกฯ แวะซื้อข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวใส่กล่องกลับไปรับประทานที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกฯ ตั้งใจที่จะจ่ายเงินเอง แต่หากระเป๋าสตางค์ไม่เจอ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงอาสาขอเป็นเจ้ามือมื้อนี้และเหมาข้าวกล่องทั้งหมด
นายกฯ บอกว่า ดีใจเห็นคนมาจับจ่ายใช้สอยและเป็นแหล่งประกอบอาชีพ ในอนาคตจะมีการขยายไปบริเวณใต้ทางด่วนอื่น ๆ ให้ดูว่าจุดไหนที่เหมาะกับการนำพื้นที่มาค้าขาย หรือทำเป็นสวนสาธารณะและลานกีฬา โดยจะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จากนั้น นายกฯ เดินทางกลับทำเนียบรัฐบาลในเวลา 12.06 น.
ย้อนไทม์ไลน์คดี เศรษฐา ก่อนศาลชี้ชะตา
คดีนี้ต้นเรื่องเริ่มมาจากวันที่ 29 เมษายน 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร้องเรียน ป.ป.ช. กรณี นายเศรษฐา แต่งตั้ง นายพิชิต เป็นรัฐมนตรี กระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เนื่องจาก นายพิชิต เคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุกกรณีพยายามนำถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาท มอบเจ้าหน้าที่ศาลในคดีที่ดินรัชดาของ นายทักษิณ ชินวัตร จากนั้นวันที่ 15 พฤษภาคม สว.40 คน ร่วมกันเข้าชื่อยื่นผ่านประธานวุฒิสภา เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ 17 พฤษภาคม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตามที่ประธานวุฒิสภาส่งมา จนวันที่ 21 พฤษภาคม นายพิชิต ยื่นลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 23 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับพิจารณาคำร้องของกลุ่ม 40 สว.ไว้พิจารณา โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
วันที่ 13 มิถุนายน นายเศรษฐา ประชุมปรึกษาทีมกฎหมาย และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญขอให้ชี้แจงพยานหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติมวันที่ 14 มิถุนายน นายเศรษฐา ปฏิเสธกระแสข่าวจะลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้งข่าวยุบสภา จนวันนี้ 14 สิงหาคม ศาลได้อ่านคำวินิจฉัยในคดีนี้
ย้อนรอย 4 นายกฯ ขึ้นเขียงศาล รธน.
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญมาเมื่อปี 2540 เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ช่วง 27 ปีที่ผ่านมา มีนายกฯ ถึง 4 คน เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว นายกฯ คนแรก ที่ถูกร้องคือ นายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 กับคดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือ คดีซุกหุ้น จนสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง ให้ยกคำร้อง
ปี 2551 นายกฯ คนต่อมาที่ถูกร้องเรียน คือ นายสมัคร สุนทรเวช ถูกยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นการเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์รายการ ชิมไป บ่นไป และ ยกโขยง 6 โมงเช้า โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า นายสมัคร ดำรงตำแหน่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่มุ่งหาผลประโยชน์ กำไร ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติของนายกฯ ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง
ปี 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง วินิจฉัยว่า นางสาวสาวยิ่งลักษณ์ ใช้ตำแหน่งนายกฯ เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายเลขาฯ สมช.เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทำให้ความเป็นนายกฯ ของยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลง
จากนั้น ปี 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มี 5 คดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 1.คดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเนื่องจากเป็นหัวหน้า คสช. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ตำแหน่ง คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงตีตกคำร้อง ป63 คดีกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง คดีที่ 3 คดีบ้านพักหลวง โดยศาลมีมติเอกฉันท์ว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่ผิด
คดีที่ 4 ปี 64 คดีขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง และคดีที่ 5 ปี 65 คดีดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พลเอกประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากให้เริ่มนับความเป็นนายกฯ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35