แสงแดดบ้านเรามีอันตรายมากน้อยเพียงใด
logo ข่าวอัพเดท

แสงแดดบ้านเรามีอันตรายมากน้อยเพียงใด

51,245 ครั้ง
|
10 มิ.ย. 2567

             ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนซึ่งอุดมไปด้วยสายลมและแสงแดดได้ในทุกเวลาในทุกฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้พบว่าชั้นบรรยากาศของโลกเริ่มบางลงและเกิดรูรั่วของชั้นโอโซน (Ozone) จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลตตัวร้ายสามารถสาดส่องลงมายังพื้นผิวโลกได้อย่างง่ายดาย และยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าแสงแดดจะมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายแต่ก็เฉพาะแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าเท่านั้น แต่จะมีอันตรายมากในช่วง 10.00 – 15.00 น. ซึ่งรังสีอัลตราไวโอเลตจะเริ่มแผดเผาและมีปริมาณมาก และถึงแม้ว่าท้องฟ้าจะมีเมฆปกคลุมมากก็ใช่ว่าจะปลอดภัยจากแสงแดด เพราะรังสีตัวร้ายสามารถเล็ดลอดผ่านลงมาได้อย่างสบายๆ

รังสีอัลตราไวโอเลต แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  1. 1. UVC เป็นรังสีที่มีความยาวของคลื่นสั้นที่สุด ซึ่งจะไม่ทำอันตรายต่อผิวมากนักเนื่องจากถูกดูดซับโดยโอโซนในชั้นบรรยากาศ
  2. 2. UVA เป็นรังสีที่มีช่วงคลื่นยาว ทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำมากขึ้น ผิวจะแดง แต่น้อยกว่า UV-B เพราะเป็นรังสีที่ผ่านทะลุเข้าไปทั้งชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ซึ่งทำอันตรายต่อโครงสร้างและเซลล์ผิวหนังทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นรวมทั้งช่วยเสริมฤทธิ์ของ UV-B ทำให้เกิดเป็นอันตรายต่อผิวหนังมากขึ้น
  3. 3. UVB เป็นรังสีช่วงคลื่นสั้นกว่า จะผ่านทะลุหนังกำพร้าและหนังแท้ชั้นบนเท่านั้น ทำให้เกิด SUNBURN ซึ่งมีอาการผิวบวมแดงและอาจพองปวดแสบร้อน ผิวไหม้และแห้งกร้านคล้ำซึ่งเมื่อผิวถูกแดดเผาเป็นประจำทำให้ผิวหมองคล้ำเกิดจุดด่างดำ มีปัญหาเรื่องฝ้า กระ หรือถ้าในระยะยาวอาจลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้

 

โรคที่จะเกิดเมื่อเจอแสงแดดมีอะไรบ้าง

            รังสี UV ในปริมาณเล็กน้อยจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ในการผลิตวิตามิน D และใช้ในการรักษาโรคบางชนิดเช่น โรคกระดูกอ่อน โรคดีซ่าน เป็นต้น แต่การสัมผัสกับรังสี UV ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผิวหนัง ตา และระบบภูมิต้านทานคือ

  • •  ทางผิวหนัง : รังสี UV ทำให้ผิวหนังร้อนแดงและเกิดผื่น (แดง) ถ้าได้รับปริมาณมากจะทำให้เกิด เม็ดพุพอง และจะทำลายผิวหนังชั้นบนซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดริ้วรอยก่อนวัย ฝ้า กระ และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
  • •  ตา : เกิดภาวะกระจกตาอักเสบ และเยื่อตาขาวอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดต้อเนื้อและต้อกระจก ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการสวมแว่นกันแดด
  • •  ระบบภูมิคุ้มกัน : ถ้ารับในปริมาณมากและเป็นเวลานานจะทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดติดเชื้อ เช่น แบคทีเรียหรือไวรัสได้ง่าย และลดประสิทธิภาพของวัคซีนด้วย

หากต้องการออกแดดบ่อยครั้งหรือโดนแดดจัดๆ เช่นไปทะเลจะมีการป้องกันอย่างไร

           สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงที่มีรังสีอัลตราไวโอเลตมากๆ คือเวลาประมาณ 10.00-15.00 น. หากจำเป็นต้องตากแดดก็ควรปกปิดผิวพรรณด้วยการใส่เสื้อแขนยาว คอปิด กางร่ม หรือใส่หมวกปีกกว้าง สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่งก็คือ การทาครีมกันแดดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะแม้จะอยู่ใต้ร่มไม้หรือชายคาบ้านก็ยังมีโอกาสได้รับรังสี UV เหมือนกับเวลาที่อยู่กลางแดด เพราะพื้นทราย พื้นน้ำ พื้นคอนกรีต สามารถสะท้อนรังสี UV เข้าสู่ผิวกายได้หรือแม้กระทั่งในวันที่มีเมฆหมอกหนาก็ยังคงต้องทาครีมกันแดดเพราะเมฆหมอกไม่สามารถป้องกันรังสี UV ได้

เลือกใช้ครีมกันแดดอย่างไร

         สำหรับคู่มือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดให้เหมาะสมกับสภาพของแสงแดดในประเทศไทยโซนร้อนอย่างบ้านเรานั้น ควรพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ ค่า SPF และค่า PA ซึ่งค่า SPF คือค่าการป้องกันผิวจากรังสี UVB โดยจะสังเกตจากค่าตัวเลขที่ต่อท้าย SPF ค่าตัวเลขยิ่งมากก็หมายถึงค่าการปกป้องก็จะมากตามตัวเลขไปด้วย โดยที่ SPF 1 จะสามารถปกป้องผิวได้นานประมาณ 20 นาที ดังนั้นเราจึงควรเลือกใช้ตั้งแต่ระดับ SPF 20 ขึ้นไป ปัจจัยต่อมาควรพิจารณาอีก 1 ตัว คือค่า PA หรือค่าการปกป้องผิวจากรังสี UVA โดยที่ค่า PA+ จะหมายถึงค่าการปกป้องผิวได้ 2 – 3 เท่า และค่าที่มากที่สุดคือ PA+++ จะหมายถึงค่าการปกป้องถึง 8 เท่าทั้งนี้ค่า SPF และ PA จะทำให้ระยะเวลาของการปกป้องผิวแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละคน และความเข้มข้นของแสงแดดในขณะนั้น หากคุณต้องการทำงานกลางแจ้งหรือมีกิจกรรมที่ต้องออกแดดบ่อยต้องเจอน้ำและเหงื่อระหว่างวัน หรืออยากจะไปเที่ยวทะเลท้าทายสายลมและแสงแดด ก็ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติกันน้ำ (Waterproof) ด้วย ที่สำคัญ! เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควรทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแดด ก่อนที่จะออกเผชิญหน้ากับแสงแดดประมาณ 15-30 นาที โดยควรหมั่นทาทุกๆ 2 ชั่วโมง ทั่วทั้งลำคอ และช่วงไหล่อย่างสม่ำเสมอ

 

บทความโดย

พญ.ฐิตา สิทธวากุล

แพทย์ประจำศูนย์ความงามและผิวพรรณ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง