ข่าวเย็นประเด็นร้อน - โผล่มาอีกเพียบเลย ลูกหนี้ที่ถูกป้าเจ้าหนี้ในจังหวัดนนทบุรี หว่านล้อมให้เขียนสัญญายอดกู้เกินจริงไปหลายเท่า ซึ่งเจ้าหนี้อ้างว่าไม่มีอะไร เขียนสัญญากู้เพื่อให้ป้าเจ้าหนี้สบายใจ จากนั้นนำไปฟ้องศาล บังคับคดีด้วยการหักเงินเดือน หลายคนกู้มาแค่หลักหมื่น แต่ต้องถูกหักเงินเดือนไปหลักล้าน หักจนเกษียณก็ไม่หมด
ตอนที่รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนแก้หนี้เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ถกไม่เถียง เคยนำเสนอเรื่องราวของลูกหนี้กลุ่มหนึ่ง ที่มีเจ้าหนี้เป็นป้าสูงวัยในนนทบุรี อาศัยกฎหมายมาอำพรางการปล่อยกู้ให้ดูเหมือนถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
วิธีการก็คือปล่อยกู้หลักหมื่น แล้วมีวิธีการกล่อมลูกหนี้ให้ทำสัญญากู้หลักแสน เฉียดล้านบาท อีกทั้งสัญญากู้ก็จะทำย้อนหลังไป 2-3 ปี เซ็นไว้เพื่อให้ป้าเจ้าหนี้สบายใจ แต่จริง ๆ เป็นระยะเวลาที่พอเหมาะในการฟ้องคดีได้ทันที จากนั้น มีลูกหนี้หลายคน ที่พอทำสัญญาแล้ว จะถูกฟ้องคดี
พอถึงวันนัดขึ้นศาล ทนายของป้าเจ้าหนี้คนนี้ จะไปจัดการเองทั้งหมด แล้วให้ลูกหนี้เซ็นใบประนีประนอมยอมความเอาไว้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ป้าเจ้าหนี้ จะบอกกับลูกหนี้ว่าเป็นขั้นตอนที่ทำไว้เฉย ๆ เพื่อให้ป้าสบายใจ
แต่พอลูกหนี้ผ่อนช้าสักเดือนถึง 2 เดือน ป้าเจ้าหน้าคนนี้ ก็จะส่งเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่บังคับคดีทันที เพื่อให้อายัดหรือหักเงินเดือนจากบริษัทที่ลูกหนี้ทำงานอยู่ ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้มีเกือบร้อยคน ส่วนใหญ่ทำงานในองค์กรเดียวกัน ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ย่านบางกรวย
ตอนออกรายการครั้งนั้น นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (สมศักดิ์ เทพสุทิน) แนะนำให้ลูกหนี้รวมตัวกันไปยื่นเรื่องศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อส่งต่อให้พื้นที่ดำเนินการต่อ
ต่อมา มีลูกหนี้ที่โดนแบบเดียวกันรู้ข่าว จึงรวมตัวกัน ไปร้องเรียนไว้ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล และเรื่องถูกส่งต่อไปที่อำเภอบางกรวย ทางอำเภอช่วยไกล่เกลี่ย
การไกล่เกลี่ยครั้งแรกตกลงกันไม่ได้ จึงมีการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นวันที่ทีมข่าวเย็นประเด็นร้อน ไปสังเกตการณ์ด้วย ปรากฏว่า บรรดาลูกหนี้ไปรอที่ห้องประชุมบนที่ว่าการอำเภอ แต่ป้าเจ้าหนี้ เข้ามาตั้งแต่ก่อนเวลานัด และออกไป ไม่รอพบลูกหนี้ พอปลัดอำเภอโทรศัพท์ตามเพื่อให้มาไกล่เกลี่ย ก็บอกกลับมาว่า การกู้ การฟ้อง การบังคับคดี หักเงินเดือน ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด จึงไม่ขอไกล่เกลี่ยแล้ว
สุดท้ายแล้ว ปลัดอำเภอ 2 นาย จึงต้องรับฟังปัญหาของลูกหนี้เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งรูปแบบการกู้ การทำสัญญา ก็เหมือนกับอธิบายไปตอนแรก แต่มีลูกหนี้รายใหม่ ๆ ของป้าเจ้าหนี้ ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือให้ช่วยไกล่เกลี่ย
อย่างเช่น คุณนาจ และคุณหน่อย 2 สามีภรรยา ที่ไปกู้เงินป้าเจ้าหนี้ 50,000 บาท ตอนแรกไม่มีสัญญา จ่ายคืนไปแล้ว 120,000 บาท แต่ก็ยังไม่หมด แล้วพอเริ่มจ่ายไม่ตรง ป้าเจ้าหนี้ก็ให้กู้เพิ่มอีก 40,000 บาท รวมกับที่กู้เดิมเป็น 90,000 บาท
แต่คราวนี้ป้าเจ้าหนี้ให้เขียนสัญญากู้ 800,000 บาท ลงวันที่ในสัญญาย้อนหลังไป 3 ปี บอกเพียงว่าเพื่อความสบายใจของป้า หลังจากนั้น 3 เดือน ป้าเจ้าหนี้ฟ้องคุณนาจและคุณหน่อย 800,000 บาท แล้วให้ยอมทำประนีนอมยอมความ พอจ่ายไม่ทันแค่เดือนสองเดือน ก็ถูกส่งเรื่องบังคับคดีอายัดเงินเดือน ซึ่งถูกอายัดไปแล้วกว่า 1.2 ล้านบาท ยังคงเหลือยอดหนี้อีกกว่า 900,000 บาท ที่ต้องถูกอายัดต่อไป ซึ่งถ้าอายัดหมดจะเป็นยอดกว่า 2.1 ล้านบาท จากยอดที่กู้เงินมากว่า 90,000 บาท
อีกคน คือคุณก้อย ไปกู้เงิน 40,000 บาท แต่ป้าเจ้าหนี้เขียนสัญญากู้ 300,000 บาท ให้เหตุผลกลัวไม่จ่ายคืน เลยเขียนไว้เฉย ๆ ตอนนั้นเธอมีหนี้เจ้าอื่นด้วย ป้าเจ้าหนี้จึงเสนอว่ากู้กับป้าเจ้าเดียวไหม เอาไปเคลียร์เจ้าอื่นให้หมด แล้วจ่ายหนี้ป้าคนเดียว โดยจะให้อีก 250,000 บาท แต่ให้เขียนยอมรับสภาพหนี้เป็น 850,000 บาท โดยให้ไปที่ศาล แล้วให้เซ็นรับสภาพหนี้ จากนั้นจะให้เงินทีหลัง แต่ว่าไม่เคยได้เงิน 250,000 บาทเลย สุดท้ายโดนบังคับคดีหักเงินเดือนเต็ม 850,000 บาท รวมดอกเบี้ย ตอนนี้หักไปแล้ว 350,000 กว่าบาท ยังเหลือหนี้อีกกว่า 1.6 ล้านบาท จากที่กู้เงินมาแค่ 40,000 บาท
พอปลัดอำเภอบางกรวย 2 นาย ที่มารับฟังความเดือดร้อนของบรรดาลูกหนี้ได้ฟังเรื่องราวแบบนี้ ก็ลงความเห็นกันว่า ถ้าเป็นแบบที่ลูกหนี้เล่ามาจริง ๆ แม้ว่าคดีจะสิ้นสุดถูกฟ้องร้องบังคับคดีแล้ว แต่ถ้ามีการทำเอกสารเท็จ ไปฟ้องศาล ก็ถือเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จะเสนอนายอำเภอบางกรวย ให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีคณะกรรมการจากหลายหน่วยงาน มาช่วยกันตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อดูว่าจะช่วยลูกหนี้อย่างไรได้บ้าง และหากลูกหนี้รายใดที่เจอลักษณะแบบนี้ มีป้าเจ้าหนี้คนเดียวกัน ให้รีบมาแจ้งเรื่องที่อำเภอบางกรวยได้เลย
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35