เช้านี้ที่หมอชิต - 4 ป. ประสาน กทม. บุกจับนายช่างโยธา หัวหน้าแก๊ง สด 1 หรือขบวนการนำโครงการของ กทม. ไปเสนอนักธุรกิจ ใครรับ ขอส่วยเหนาะ ๆ เป็นเงินสด 1 เปอร์เซ็นต์ อึ้งแค่ซี 6 แต่มีทรัพย์สินกว่า 42 ล้าน เลี้ยงดูลูกเมียได้ 5 คน ล่าสุด เกม จากการเรียกรับสินบน 9 ล้านบาท เพื่อแก้แบบถนนช่วยสนามกอล์ฟชื่อดัง
เมื่อวานนี้ พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำกำลังตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 5 จุด ที่นนทบุรี ปทุมธานี และนครราชสีมา จุดสำคัญอยู่ที่บ้านพัก นายภีมพงษ์ นายช่างโยธาชำนาญงาน สำนักงานโยธา กทม. เจ้าตัวถูกจับกุมพร้อมภรรยา 1 คน ตามหมายจับ ข้อหาเรียกรับสินบน 9 ล้านบาท แลกกับการช่วยแก้ไขแบบแนวเขตโครงการถนนเลียบวารี ไม่ให้เข้าไปในเขตสนามกอล์ฟวินด์เซอร์ปาร์ค แอนด์ กอล์ฟคลับ ในหมู่บ้านบนถนนติวานนท์-แจ้งวัฒนะ 2 อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จากการตรวจค้นในบ้านพบรถหรูมากมาย เช่น เบนซ์ และ ฮาเลย์เดวิดสัน 5 คัน รวมถึงทอง และปืนหลายกระบอก
พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ เปิดเผยว่า จากการกระจายกำลังค้นทั้ง 5 จุด จับกุมผู้ต้องหาได้ครบ 4 คน นายช่างโยธา ฯ คือหัวหน้าแก๊ง ขณะนี้ยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อ้างเป็นเพียงนายหน้าขายที่ดิน และไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ อย่างไรก็ตาม คดีนี้ถือเป็นสารตั้งต้น เพราะเชื่อว่าน่าจะไม่ได้ทำคนเดียว และอาจมีตัวการที่ใหญ่กว่านั้น
โดยกรณีนี้ เริ่มมาจากผู้ประกอบการสนามกอล์ฟวินด์เซอร์ปาร์ค ฯ เข้ามาร้องทุกข์กับ ปปป. ส่วนผู้ต้องหาทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเวนคืน แต่กลับมีพฤติกรรมทำแผนที่ปลอมเพื่อหลอกทางสนามกอล์ฟว่าจะมีถนนล้ำผ่ากลางเข้าไป จากนั้นก็อ้างตัวว่าสามารถเปลี่ยนแบบแปลนถนนได้ แต่ผู้เสียหายต้องยอมจ่ายเงินค่าดำเนินการ 9 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริง การเปลี่ยนแบบแปลนถนนโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำได้ กว่าที่ผู้เสียหายจะทราบความจริงก็ถูกหลอกสูญเงินไปแล้ว จึงมีการร้องเรียนนำไปสู่การจับกุมและยึดทรัพย์สินที่เชื่อว่าน่าจะได้มาจากการกระทำผิดกว่า 42 ล้านบาท ส่วนที่ต้องเรียกผู้ต้องหาขบวนการนี้ว่า ‘สด 1’ เพราะรูปแบบแผนประทุษกรรมของขบวนการคือ จะนำโครงการต่าง ๆ ของ กทม. ไปบอกหรือนำเสนอให้ผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการรายใดสนใจก็จะขอเรียกรับเงินสดคิดเป็นเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่าของโครงการ
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม. ให้ความร่วมมือตำรวจมาตั้งแต่กลางปี 2566 เนื่องจากมีเบาะแสการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ และไม่ได้มีเคสนี้เพียงเคสเดียว แต่มีประมาณ 6 เคส กรณีนี้จะลงโทษทางวินัย ตั้งคณะกรรมการตามขั้นตอน หากมีหลักฐานที่ชัดเจน ตำรวจก็จะดำเนินการเกี่ยวกับความผิดด้านทุจริต ส่วนจะขยายผลไปถึงผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าหรือไม่ขึ้นอยู่กับตำรวจ
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่
+ อ่านเพิ่มเติม