ปัญหาพฤติกรรมของเด็ก โดยเฉพาะตอนไปโรงเรียน เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นกังวลกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่ง สมาธิในการเรียนไม่ดี มักจะทำให้คุณครูเข้าใจว่าตัวเด็กเป็นโรคซนสมาธิสั้นหรือ ADHD (attention deficit hyperactivity disorder) ซึ่งเป็นโรคพัฒนาการล่าช้ารูปแบบหนึ่งที่พบได้ค่อนข้างบ่อย อย่างไรก็ดี สาเหตุของการที่เด็กมีอาการไม่นิ่ง หรือสมาธิไม่ดี อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคความบกพร่องของทักษะการเรียนรู้เฉพาะด้าน หรือโรค LD (learning disabilities) ภาวะสติปัญญาบกพร่อง (intellectual disability) โรคลมชักชนิดเหม่อ (absence epilepsy) และเกิดจากการนอนที่ไม่ดี
การนอนหลับเป็นกระบวนการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีประโยชน์ทั้งในด้านการพักผ่อนและเป็นการเปิดระบบการทำงานของร่างกายอีกหลายส่วนที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหรือเกิดขึ้นเด่นในช่วงของการนอนหลับเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) ในช่วงการหลับลึก การกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในช่วงการหลับลึก และการสร้างความจำระยะยาว (long-term memory formation) ในหลายช่วงของการนอนหลับ ดังนั้น หากการนอนหลับเกิดขึ้นได้ไม่ดี เช่น นอนไม่เพียงพอต่อความต้องการของวัย ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กที่อาศัยในเขตเมืองที่ต้องรีบไปโรงเรียนตั้งแต่เช้ามืด หรือ นอนได้ตามจำนวนชั่วโมงที่ต้องการตามวัย แต่การนอนนั้นไม่มีคุณภาพ มีอาการกรนร่วมกับหยุดหายใจบ่อยๆ ระหว่างการนอนหลับ จนต้องตื่นขึ้นมาเป็นระยะๆ ทำให้แม้จะนอนได้ตามชั่วโมงที่กำหนดตามวัยแต่คุณภาพการนอนนั้นไม่ดี แถมยังทำให้การนอนในระยะที่สำคัญ เช่น ระยะหลับลึกกับระยะหลับแบบตากระตุกก็จะเกิดขึ้นได้น้อยลงด้วย ส่งผลเสียต่อการทำงานตามปกติของร่างกาย โดยในกลุ่มประชากรวัยเด็ก ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมในช่วงเวลากลางวัน โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง และสมาธิในการเรียนไม่ดีได้
ดังนั้น หากบุตรหลานของท่านมีปัญหาพฤติกรรมในลักษณะของอาการซน อยู่ไม่นิ่ง และสมาธิในการเรียนไม่ดี ก็ควรจะลองตรวจสอบดูว่า ตัวเด็กได้นอนตามระยะเวลาที่ควรจะเป็นตามวัยหรือไม่ และคุณภาพการนอนของเด็กเป็นอย่างไร หากตัวเด็กมีปัญหาด้านการนอนร่วมด้วย โดยเฉพาะอาการนอนกรนร่วมกับมีอาการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วขณะนอนหลับ ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่เสียงกรนเงียบลงชั่วคราว แล้วตามมาด้วยเสียงหายใจที่แรงและดังขึ้น คล้ายการงับอากาศหรือสำลัก หรือตามมาด้วยการตื่นจากการนอน ก็จะบ่งชี้ว่าบุตรหลานของท่านอาจจะเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) ซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพการนอนหลับ และต้องการการตรวจการนอนหลับ (sleep test) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและระบุความรุนแรงของตัวโรค เพื่อใช้ในการกำหนดรูปแบบการรักษาต่อไป
บทความโดย
รศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์สาขาประสาทวิทยา
หากบุตรหลานของท่านมีอาการคล้ายดังกล่าวโรงพยาบาลเจ้าพระยาขอเสนอ
+ อ่านเพิ่มเติม