“กลิ่น” คือปัญหาทางมลพิษที่มีมาอย่างยาวนานและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางสังคมเมืองที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหามักมาจากสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ทิ้งขยะ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดมาตรฐานเกณฑ์วัดมลพิษแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่าง 100% เนื่องจากการวัดผลด้วยวิทยาศาสตร์ไม่สามารถวัดความรู้สึกในการรับกลิ่นของมนุษย์ได้
ในปี พ.ศ. 2553 จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษ และบังคับใช้นับแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ คณะกรรมการควบคุมมลพิษยังได้ประกาศวิธีตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นโดยการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เกิดเป็นอาชีพ ผู้ทดสอบกลิ่น (Panelist) ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจวัดค่าความเข้มของกลิ่นด้วยการดม เพื่อแก้ไขปัญหาที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ไขได้
ผู้ที่จะเป็นนักทดสอบกลิ่นต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีอายุระหว่าง 18-60 ปี ไม่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และต้องมีความสามารถในการตรวจจับกลิ่น รวมถึงแยกแยะและจดจำกลิ่นได้ นอกจากนี้ต้องเป็นคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่บริเวณโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากอาจเกิดความคุ้นเคยกับกลิ่นจนทำให้ไม่สามารถแยกแยะกลิ่นได้
โดยผู้ที่จะมาเป็นผู้ทดสอบกลิ่นต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทดสอบกลิ่นตามประกาศของกรมควบคุมมลพิษ การขึ้นบัญชีรายชื่อมีอายุ 1 ปี และสามารถต่ออายุได้ 2 ปีติดต่อกัน จากนั้นต้องพัก 1 ปี จึงจะสามารถทดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนได้อีกครั้ง ซึ่งอัตราค่าตอบแทนจะเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
อาชีพผู้ทดสอบกลิ่นเป็นอาชีพที่ไม่ได้แพร่หลายมากนักในประเทศไทย แต่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษได้เปิดโอกาสให้บุคคลทุกอาชีพเข้ารับการทดสอบคัดเลือกเป็นผู้ทดสอบกลิ่นได้ นอกจากจะได้ทดสอบความสามารถในการรับรู้กลิ่นของตนเองแล้ว ยังมีส่วนช่วยภาครัฐในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องกลิ่นระหว่างประชาชนและโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกด้วย
ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ