logo เงินทองของจริง

บัตรเครดิตไทยเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee เพิ่ม 1 เปอรเซ็นต์ | เงินทองของจริง

8,191 ครั้ง
|
06 พ.ค. 2567
ล่าสุดมีประกาศเก็บค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตไทย DCC เพิ่ม 1% และเริ่มเก็บเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้ แล้วทำไมต้องมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC Fee
 
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ในบ้านเราเรียกได้ว่า เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะสั่งของจากในไทย หรือต่างประเทศก็ทำได้สะดวกสบาย จนทำให้หลายคนเคยชินกับการช้อปปิ้งออนไลน์ไปแล้ว แน่นอนว่าช่องทางการชำระเงิน ที่สะดวกที่สุดก็คงหนีไม่พ้นบัตรเครดิต ซึ่งล่าสุดได้มีประกาศออกมาว่าเตรียมปรับขึ้น ค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 1% และเริ่มเก็บแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมานี้
 
เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์และบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตหลายแห่ง ประกาศการเตรียมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท เพิ่มเติม ทำให้ผู้ใช้บัตร Visa และ Mastercard ชำระเงินค่าสินค้าและบริการจากร้านค้า ที่จดทะเบียนในต่างประเทศจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC เพิ่มขึ้น 1% จากยอดชำระทั้งหมด 
 
DCC Fee คืออะไร ?
DCC fee คือค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท หรือ  Dynamic Currency Conversion fee (DCC fee) โดยที่จะเรียกเก็บสำหรับ รายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต(บัตรเดบิตไม่โดนนะ) ในการซื้อ สินค้า บริการ หรือ การกดเงินสดที่เป็นสกุลเงินบาทที่ร้านค้าต่างประเทศ (รวมถึงร้านออนไลน์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย
ทำไมต้องมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC Fee
 
เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของธุรกิจบัตรเครดิต การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ร้านค้าต่างประเทศรวมถึงร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนใน ต่างประเทศจะมีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท
 
ค่าธรรมเนียม 1% คิดอย่างไร
 
คิดค่าใช้จ่าย 1% จากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรด้วยสกุลเงินบาท (ไม่คิด VAT) โดยคิดจากยอด ณ วันที่บันทึกรายการใช้จ่าย โดยในใบแจ้งรายการจะแสดงจำนวน เงินค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทเพิ่มเติมอีกหนึ่งรายการ
 
รวมทั้งการกดเงินสดด้วยสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ  ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย / ยอดกดเงินสด
 
กินเที่ยวช้อปยังไง ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม DCC 1%
 
ดังนั้นหากเราไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมนี้ สามารถใช้ 5 วิธีหลีกเลี่ยงการเสีย DCC fee 1% แบบถูกกฎหมาย 100% ดังนี้
1. ในบางสินค้าและบริการ เช่น จ่ายสมาชิกรายเดือน Netflix หรือ การซื้อแอปพลิเคชันบน App store สามารถเลือกตัดยอด รวมกับค่าใช้จ่ายโทรศัพท์แพ็คเกจรายเดือน
2. ถ้าเดินทางไปเที่ยวช้อปปิ้งต่างประเทศ แนะนำให้ใช้บัตรเติมเงิน (Prepaid Card) หรือ Travel Card แบบแลกสกุลเงินต่างประเทศไว้ก่อน เพื่อชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสกุลเงินที่แลกไว้ ณ ร้านค้าในต่างประเทศ เพราะจะช่วยลด การเสีย DCC 1% และอาจทำให้เราได้เรทแลกเงินที่ดีอีกด้วย 
3. หากคุณเป็นสายซื้อของออนไลน์ ก็ควรจะเลือกร้านค้าออนไลน์ ที่จดทะเบียนในประเทศไทย เพราะบริษัทพวกนี้นั้นจดทะเบียนนิติบุคคล และเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายไทยเรียบร้อยแล้ว
4.ใช้เงินสกุลท้องถิ่นโดยตรง เมื่อต้องการกดเงินสดผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เสียค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท
5. ใช้บัตรเครดิตของเจ้าอื่นที่ไม่ใช่ Visa/Mastercard เช่น บัตรเครดิต JCB, บัตรเครดิต AMERICAN EXPRESS, บัตรเครดิต UnionPay ที่ยังไม่มีประกาศการเรียกเก็บ DCC fee
 
สรุป แม้ว่าจะเริ่มมีการประกาศจ่ายค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศ เป็นสกุลเงินบาท 1% เมื่อใช้บัตร Visa/Mastercard จ่ายเงินบาทให้กับบริษัท ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ แต่ก็มีอีกหลายวิธีที่ผู้บริโภคสามารถนำวิธีข้างต้นไปใช้ได้ เพื่อไม่ให้เสียค่า DCC 1% อีกต่อไป
 
คำถาม คือ ถ้าสมมุติว่าเรามีการยกเลิกรายการ ค่าธรรมเนียม 1% จะได้คืนไหม ? 
 
คำตอบ คือ ได้คืน กรณีมีการยกเลิกรายการ ค่าธรรมเนียม 1% จะมีการคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตภายใต้บัญชีบัตรหลัก
 
ทั้งนี้ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป และจะถูกเรียกเก็บ ณ วันที่มีการบันทึกรายการ
 
สำหรับร้านค้าที่จะถูกเก็บค่าธรรมเนียม 1% นั้น 
รวมร้าน Online ที่จดทะเบียนต่างประเทศด้วยก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ไว้สำหรับรับชมภาพยนตร์ ละคร ฟังเพลง หรือเว็บไซต์การจองที่พัก เที่ยวบิน เฟซบุ๊ก หรือ แม้แต่ Google ก็ถูกเก็บค่าเนียมส่วนนี้เพิ่มด้วย 
 
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital
 
 
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtube.com/live/qDLQnL7OFQA