ลูกสาวร้อง ! วันดีคืนดีถูกมือมืดถอนเงินเกลี้ยงบัญชี 1.2 ล้านบาท ก่อนพบมีคนสวมรอย แอบอ้างเป็นลูกของพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อ 42 ปีก่อน เจ้าของบัญชีตัวจริงสุดงง ? ธนาคารให้ถอนเงินได้อย่างไร
วันที่ 28 เม.ย. 67 คุณรุ้ง ผู้ร้องทุกข์ ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด 35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ว่า พ่อของตนเสียไปตั้งแต่ ปี 2525 ตนเพิ่งทราบว่าถูกถอนเกลี้ยงบัญชี เมื่อปีที่แล้ว เมื่อช่วงที่คุณพ่อยังมีชีวิต คุณพ่อได้มอบอำนาจให้คุณแม่เป็นผู้ที่เซ็นเอกสารได้ทั้งหมด คุณแม่ไม่ได้เปลี่ยนชื่อบัญชี เหตุผลที่ไม่เปลี่ยนชื่อบัญชีเพราะสมัยก่อนมีการซื้อหุ้นไว้ จะมีเงินปันผล และคุณแม่ไม่ทราบว่าสามารถเปลี่ยนชื่อได้ จึงคงบัญชีไว้คงเดิม ทางลูก ๆ ไม่มีใครก้าวก่ายบัญชีนี้ เพราะตั้งแต่คุณพ่อเสีย บัญชีนี้ก็มีการเปิดใช้งานมาตลอด มีการถอนเงินเข้า-ออกเป็นปกติ
เริ่มเกิดปัญหาเมื่อปีที่แล้ว ธนาคารโทรมาสอบถามว่าบัญชีนี้เป็นบัญชีของใคร ตนตอบว่าเป็นบัญชีเป็นของพ่อ ก่อนธนาคารจะบอกว่าบัญชีนี้ มีคนถอนเงินออกไปหมดแล้ว ตนถามกลับว่า ถอนออกไปได้อย่างไร ? ใครถอน ? ทางธนาคารแจ้งว่า ธนาคารส่งยอดเงินที่ไม่มีการเคลื่อนไหวแจ้งส่งไปผิดที่อยู่ แต่ทางตนเปลี่ยนที่อยู่เมื่อ 30 ปี ทางธนาคารรับทราบแล้วว่าตนเปลี่ยนที่อยู่ ปัญหาเกิดเมื่อคนที่ได้รับจดหมายผิด เขาไปทำเรื่องขอศาลเป็นผู้จัดการมรดก แอบอ้างเป็นบุตรของพ่อ โดยเอกสารทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับพ่อของตนแต่อย่างใด
ทางด้านผู้แอบอ้างได้นำจดหมายที่ได้รับการแต่งตั้ง พร้อมทั้งจดหมายที่ทางธนาคารส่งไปผิดที่อยู่ ไปที่ธนาคารแล้วทำการถอนเงินออกไปทั้งหมด ยอดทั้งหมดที่ถูกถอนออกไปกว่า 1.3 ล้านบาท ทางธนาคารแนะนำให้ตนไปร้องเป็นผู้จัดการมรดก เพื่อที่ธนาคารจะนำเงินที่ถูกถอนไปคืนกลับมาให้ ตนก็ไปฟ้องศาล ศาลได้แต่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของคุณพ่อ ตนยื่นเรื่องไปทางธนาคารว่าตนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ตั้งแต่ 24 ก.พ. 2567 ปรากฏว่าทางธนาคารเพิกเฉย ไม่มีการตอบกลับจากธนาคารว่าจะจ่ายเงินคืนให้ตนเมื่อไร
ด้าน ณัฐปกรณ์ สุดชา (ทนายเจส) ทนายความ อธิบายว่าที่ศาลจะแต่งตั้งเป็นผู้รับมรดกได้ ต้องประกอบไปด้วย เจ้าของมรดก ในกรณีที่เจ้าของมรดกเสียชีวิตแล้วจะต้องมีใบมรณะบัตร และรายการทรัพย์สินซึ่งเป็นชื่อของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ถ้าเกิดมีญาติพี่น้อง ก็สามารถมาแสดงตัวเพื่อเป็นพยานยืนยันต่อศาล โดยต้องไม่มีใครคัดค้าน ถ้ามีหลักฐาน เช่น สูติบัตร แสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกัน ก็สามารถยื่นยืนยันต่อศาลได้
ถ้ามองในมุมของกฎหมาย จุดเริ่มเรื่องเกิดจากทางธนาคารส่งใบแจ้งยอดไปผิดที่อยู่ บุคคลที่จะดำเนินการในกรณีนี้ได้ คาดว่าผู้แอบอ้างต้องมีบุคคลที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ ซึ่งตนอ่านคำร้องของทางผู้กล่าวอ้างแล้ว เขาอ้างว่าเขาเป็นลูกนอกสมรส และเนื่องจากเป็นการส่งเอกสารออนไลน์ จึงทำให้แอบอ้างได้ง่ายขึ้น ในกรณีนี้ธนาคารมีความประมาทไม่ตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนก่อนที่จะทำการจ่ายเงินให้กับเจ้าของบัญชี ธนาคารต้องรับผิดชอบโดยการคืนเงินทั้งหมดให้เจ้าของบัญชีตัวจริง ต้องไปฟ้องร้องค่าเสียหายกับบุคคลที่แอบอ้าง และต้องเป็นผู้จัดการทั้งหมด
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 17.30-18.00 น. และทุกวันเสาร์ - วันอาทิตย์ พบกับ รายการ “ถกไม่เถียง Weekend” เวลา 17.30-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม