logo เงินทองของจริง

บริหารเงินเดือนยังไง ให้มีกิน มีเก็บ และเหลือลงทุน | เงินทองของจริง

เงินทองของจริง : เชื่อว่าตอนนี้หลาย ๆ คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนกำลังเจอเหตุการณ์นี้อยู่ คือ เวลาเงินเดือนออกทีไร ก็ใช้ไปเรื่อย เหลือก็เก็บ ไม่เหลื

10,031 ครั้ง
|
18 เม.ย. 2567
เชื่อว่าตอนนี้หลาย ๆ คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนกำลังเจอเหตุการณ์นี้อยู่ คือ เวลาเงินเดือนออกทีไร ก็ใช้ไปเรื่อย เหลือก็เก็บ ไม่เหลือก็ไม่เก็บ หรือบางทีใช้เงิน แบบเดือนชนเดือนก็มี แล้วทีนี้เรามีแนวทางการบริหารเงินเดือนอย่างไรได้บ้าง
 
เคยเป็นกันมั้ย ? เงินเดือนออกทีไร ก็ใช้ไปเรื่อย เหลือก็เก็บ ไม่เหลือก็ไม่เก็บ หรือบางทีใช้เงินแบบเดือนชนเดือนก็มี มาดูการบริหารเงินเดือนไว้เป็นแนวทางกันดีกว่า ต้องแยกบัญชียังไง ออมเท่าไหร่ 
 
เริ่มจากแบ่งเงินเดือนออกเป็นส่วน ๆ
เริ่มจากแบ่งเงินเดือนออกเป็นส่วน ๆ คือเมื่อได้รับเงินเดือน หรือรายได้มา ก็ให้แยกเป็น
- เงินออม 10% หรือมากกว่านั้น ไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน และวางแผนการเงิน
- ค่าใช้จ่าย แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ที่ต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ และค่าใช้จ่ายผันแปร เช่น ค่ากิน ค่าเดินทาง
- คงเหลือ หากในแต่ละเดือนมีเงินเหลือ จะนำไปใช้เพื่อความสุขอย่างการ กินอาหารดี ๆ สักมือ ช้อปปิ้ง หรือจะนำไปออมเพิ่มก็ได้ แต่ส่วนที่สำคัญคือ ให้ “ออมก่อน แล้วค่อยใช้จ่าย”
 
แนะนำให้วางแผนเงินออมตาม “สามเหลี่ยมการเงิน” โดยเริ่มจาก
 
1. ฐานแรก เป็นฐานที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เราวางแผนการเงินได้มั่งคงในระยะยาว โดยเริ่มจาก
 
- เงินสำรองฉุกเฉิน (เป้าหมายระยะสั้น) ให้เก็บเงินในส่วนนี้ไว้เป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ในตอนที่เราไม่มีรายได้ แต่ยังมีรายจ่ายที่ต้องจ่าย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
- โอนย้ายความเสี่ยง หากเราไม่อยากรับความเสี่ยงทั้งต่อตัวเราและทรัพย์สินเอง ให้โอนย้ายความเสี่ยงนี้ไปไว้ที่บริษัทประกัน เช่น ซื้อประกันสุขภาพ, ประกันรถยนต์ หรือประกันบ้าน เป็นต้น
 
2. ฐานสอง เมื่อเราวางแผนฐานแรกเรียบร้อยแล้ว ก็มาต่อที่การออมเงิน เพื่อเป้าหมายต่าง ๆ อาจแบ่งเป็น
- เป้าหมายระยะกลาง เพื่อแต่งงาน, เรียนต่อ หรือซื้อบ้าน เป็นต้น
- เป้าหมายระยะยาว อย่างการเกษียณ
 
3. ฐานสาม เป็นการลงทุนเพื่อให้เงินเของเราเติบโตงอกเงย จะเลือกลงทุนแบบไหนก็ได้ ตามความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ เพราะถึงแม้ว่าเราจะขาดทุนจากการลงทุน ชีวิตเราก็ยังปกติ มีเงินซื้อบ้านเหมือนเดิม มีเงินเกษียณเหมือนเดิม เพราะเราได้วางแผน ไว้ก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว
 
ในทางกลับกัน ถ้าเราเลือกที่จะลงทุนเป็นอย่างแรก แล้วหากวันใดวันนึงเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างกระทันหัน ก็ต้องดึงเงินจากการลงทุนมาใช้ก่อน ก็จะทำให้การลงทุนสะดุด ไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้ หรืออยากซื้อบ้านเงินสด เลยนำเงินทั้งหมดที่มีไปลงทุนในคริปโต เพื่อหวังรวยทางลัด ให้เงินงอกเงยจะได้มีเงินมาซื้อบ้านเร็ว ๆ แต่อยู่ดี ๆ โดนเจ้าทุบตลาดร่วง ขาดทุนหนักมาก บ้านที่ฝันเอาไว้ก็คงเหลือแต่เสา
 
3 เงินชดเชยหลังเกษียณ
 
1. เงินบำนาญประกันสังคม
สวัสดิการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เงินเดือนทุกคน ซึ่งการที่เราจ่ายเงินสะสม เข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน นอกจากจะได้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งที่เก็บไว้เป็นเงินเงินบำเหน็จบำนาญยามเกษียณอีกด้วย โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
 
จะได้รับเงินบำนาญเมื่อ
- จ่ายเงินเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 180 เดือนหรือ 15 ปี
- กรณีจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้เงินบำนาญเพิ่ม 1.5% ต่อปี
- อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
 
แต่กรณีที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จแทน
 
2. เงินชดเชยเลิกจ้าง
ตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน การเกษียณอายุไม่ได้เป็นการเลิกจ้างโดยสมัครใจ แต่เพราะเราอายุเกินข้อกำหนดในการทำงาน ดังนั้นจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย รายได้จากบริษัทตามกฎหมาย
 
3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เมื่ออายุ 60 ปี สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพได้ที่ สำนักงานเขต กทม., อบต. หรือเทศบาล โดยที่ทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต และเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ
- ผู้สูงอายุ 60-69 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ 600 บาท
- ผู้สูงอายุ 70-79 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ 700 บาท
- ผู้สูงอายุ 80-89 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ 800 บาท
- ผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท
 
 
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital
 
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://www.youtube.com/live/t_VAYO7Dphw?feature=shared
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง