คนที่เริ่มเก็บออมก็คงมีคำถามคือไม่รู้ว่าในแต่ละเดือนควรจัดสรรเงินออมยังไง แบ่งออมเท่าไหร่ถึงจะพอ วันนี้โค้ชมีเทคนิค 6 Jars System ที่เป็นที่นิยมมาบอกกัน
การเก็บออมเงินแบบ JARS SYSTEM จะช่วยเป็นแนวทางให้การจัดสรรเงินในแต่ละเดือนของเราว่าควรนำเงินไปใช้จ่าย ลงทุน เก็บออม เที่ยวเล่นเท่าไหร่บ้าง เป็นการออมที่นิยมระดับโลก ซึ่งหลักการสำคัญของ 6 โหลเงินเก็บ คือจะแบ่งเงินที่เราหามาได้เป็นทั้งหมด 6 โหล
โหลแรก โหลจำเป็น
เริ่มต้นที่โหลแรกคือ ‘โหลจำเป็น’ (Necessity Account)
วิธีการคัดเลือกว่าค่าใช้จ่ายนี้จะเลือกส่วนไหนให้ตัดสินจาก "ถ้าไม่มี แล้วลำบากแน่นอน" เช่นค่าหอ ไม่มีไม่ได้เพราะจะไม่มีที่ให้อยู่ ค่าอาหาร ไม่มีก็อดตายแน่ๆ
หรือค่าไฟไม่จ่ายก็ได้นอนเหงื่อท่วมกันแน่ๆ ค่าน้ำและค่าประกัน สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นจำพวกที่ถ้าไม่มีชีวิตลำบากแน่นอน โดยแบ่งจากเงินเดือน 55% แนะนำฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
โหลที่สอง โหลปรนเปรอ
โหลนี้จะถูกหยิบเมื่อเราต้องการใช้จ่าย สิ่งที่ "เสริมความสุข" แต่ว่าขาดไป ก็ไม่ได้ลำบากอะไร เรียกว่ามีก็ได้ไม่มีก็ได้ อย่างเช่น บุฟเฟ่ต์หรูหราตามโรงแรม ปาร์ตี้สังสรรค์หรือเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่สร้างความสุขให้กับเรา สามารถมีได้แต่มีอย่างพอประมาณ เป็นโหลที่ให้รางวัลตัวเองเพื่อสร้างความสุขในชีวิต แบ่งจากเงินเดือน 10% แนะนำฝากบัญชีเงินฝากดิจิทัล
โหลที่สาม โหลลงทุน
เป็น 'โหลลงทุน' สำหรับการออมแค่เอาเงิน ใส่ธนาคารก็จัดอยู่ในส่วนนี้ได้หรือถ้าใครมีความรู้เรื่องหุ้นก็จัดการออมในส่วนของหุ้น เพราะเงินส่วนนี้มีหน้าที่ให้เงินงอกเงย
ออกมาเพิ่มหรือก็คือเงินต่อเงิน จะต่อได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของเรา ดังนั้นแล้ว ข้อบังคับที่ควรทราบคือ "โหล นี้ ห้าม หยิบ" ห้ามงัด ห้ามแงะ ห้ามทุบ เด็ดขาด ลงทุนไม่ได้ก็เอาไปใส่ธนาคารเก็บไว้ดีที่สุด แบ่งจากเงินเดือน 10% แนะนำสลากออมสิน,ทองคำ,
หุ้น,กองทุน ฯลฯ
โหลที่สี่ โหลความรู้
โหลบัญชีความรู้และพัฒนา เชื่อเสมอว่าการลงทุนที่ดีคือการลงทุนกับการศึกษา หรือการลงทุนในตัวเองเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถหยิบออกจากโหลนี้ได้อย่านึกแค่ค่าเรียน ป.ตรี ป.โท ป.เอก เท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็น เรียนภาษาอังกฤษ เวิร์คชอปอบรมต่างๆ ล้วนจัดอยู่ในนี้ทั้งนั้น เพราะเป็นการเพิ่มทักษะความรู้ช่วยทำให้ Productivity เพิ่มขึ้นในอนาคตได้ แบ่งจากเงินเดือน 10% แนะนำฝากบัญชีออมทรัพย์
โหลที่ห้า โหลเก็บหอมรอมริบ
‘โหลออม’ โหลนี้เอาไว้เก็บเงินเพื่อซื้อของสนองความต้องที่มีราคาสูงขึ้นมา เช่น รถ บ้าน คอนโด โน๊ตบุค มือถือ ดังนั้นโหลนี้จะไม่ได้ถูกหยิบออกมาใช้บ่อยๆ เพราะต้องสะสมไป
โหลที่หก โหลนี้พี่ให้
โหลบัญชีแบ่งปัน คือเป็นค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่และมักจะมองข้ามไป ดังนั้นถ้ารู้ว่าเงินจำนวนสูงสุดที่สามารถให้ได้ เราก็จะเปย์อย่างมีสติ ไม่ใช่ว่าอยากให้อะไรเขาก็ให้ โหลนี้ก็จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เราทำเพื่อคนอื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะซองงานแต่ง ของขวัญเพื่อน
ของขวัญแฟน ให้พ่อแม่ ตลอดจนบริจาค แบ่งจากเงินเดือน 5% แนะนำฝากบัญชีออมทรัพย์
ถ้ามีการจัดสรรเงินให้เป็นระบบระเบียบ ก็จะรู้ว่าเงินที่ใช้ได้มีแค่ไหน ควรใช้จ่ายในแต่ละเรื่องเท่าไหร่ แล้วจะมีเงินเหลือเก็บไหม เราก็จะเป็นคนที่ใช้เงินเป็นและนำไปสู่เส้นทางความมั่งคั่งได้เร็วมากขึ้น ทั้งนี้สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม เช่นมีการลดสัดส่วน ‘โหลจำเป็น’ ลงและเพิ่ม ‘โหลลงทุน’ ขึ้นเพราะอยากเอาเงินไปลงทุนมากขึ้นก็สามารถทำได้
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital