ต่อมทอนซิลอักเสบ…รู้สาเหตุ…รู้แนวทางรักษา
logo ข่าวอัพเดท

ต่อมทอนซิลอักเสบ…รู้สาเหตุ…รู้แนวทางรักษา

27,513 ครั้ง
|
11 เม.ย. 2567

           ต่อมทอนซิล เป็นเนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่ภายในมีเม็ดเลือดขาวอยู่หลายชนิด ต่อมทอนซิลอยู่บริเวณผนังช่องคอด้านหลังทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่ในการดักจับ และกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารส่วนต้น

ต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณต่อมทอนซิล โดยเชื้อก่อโรคที่ พบได้บ่อยตามลำดับ คือ

  1. 1. เชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรืออาจเกิดจากไวรัสชนิดอื่นๆ ได้ โดยอาการของต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักจะมีอาการ ไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอ จาม อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวได้
  2. 2. เชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก กลืนเจ็บ กลืนลำบาก อาจมี อาการเจ็บร้าวไปที่หูร่วมด้วย โดยถ้าหากผู้ป่วยมาพบแพทย์แล้วได้รับการตรวจ วินิจฉัย ก็จะพบว่าที่ผนังคอหอยและต่อมทอนซิลมีลักษณะแดงและพบจุดหนอง ที่ต่อมทอนซิลได้ ส่วนในผู้ป่วยเด็กจะมีอาการเจ็บคอมากจนกลืนน้ำลายไม่ได้ ทำให้ตรวจพบว่ามีน้ำลายไหลออกมาด้านนอกได้บ่อย ส่วนอาการร่วมอื่นๆ ที่ พบได้จากการที่เป็นทอนซิลอักเสบ คือ ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอโตและกดเจ็บ
  3. 3. เชื้อรา อาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ

การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดต่อมทอนซิลอักเสบ ว่าเกิดจากอะไร

  • ๐ ต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะเน้นรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ได้แก่ ยาอมแก้เจ็บคอ ยาพ่นหรือกลั้วคอ ยาบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ ยาลดอาการคัดแน่นจมูก น้ำมูกไหล และยา ลดไข้
  • ๐ ต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาหลัก คือการให้ยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะ โดยต้องทานยาจนครบประมาณ 7-10 วัน

          นอกเหนือจากการรักษาทางยาแล้ว การดูแลรักษาทั่วๆไป ได้แก่ หลีกเลี่ยงการ รับประทานอาหารที่ร้อนจัดหรือรสจัด เพราะจะทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบมากขึ้น ควรรับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม ร่วมกับการดื่มน้ำและพักผ่อนให้ เพียงพอ

          กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะทอนซิลอักเสบเรื้อรัง คือมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง รักษาด้วยยา ปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผล หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีต่อมทอนซิลอักเสบเป็นซ้ำอยู่บ่อยๆ จน รบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ควรได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดต่อมทอนซิล

สำหรับการป้องกันตนเองไม่ให้เป็นทอนซิลอักเสบ ก็คือการดูแลรักษาร่างกาย ให้แข็งแรง เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การดื่มน้ำที่สะอาดและเพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการดื่ม สุราและสูบบุหรี่  รวมถึงการหมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น และ หากมีความจำเป็นที่จะต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เนื่องจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ทำให้เกิดทอนซิลอักเสบนั้น สามารถแพร่กระจายได้ง่าย

          ถ้าหากว่าท่านใดที่มีอาการเจ็บคอ และสงสัยว่าน่าจะเกิดจากต่อมทอนซิลอักเสบ ควรที่จะเข้ามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการ รักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

แพ็กเกจผ่าตัดต่อมทอนซิลสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก"

https://www.chaophya.com/2024/04/tonsillectomy/

 

บทความโดย

นพ.ภูทัตต์ ภูอมรกุล และ พญ.สมรัตน์ สิงหพงษ์

ศูนย์หู คอ จมูก รพ.เจ้าพระยา