ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมายใหม่ที่เริ่มใช้เมื่อปี 2563 เนื่องจากโควิด-19 ระบาด ทำให้ต้องปรับลดอัตราภาษีที่ดินมาตลอด จนเข้าปี 2567 นี้ เมื่อสถานการณ์เรื่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มผงกหัว มีแรงหนุนภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ทำให้ ภาษีที่ดิน 2567 รัฐบาลตัดสินใจจะไม่มีการลดหย่อนภาษีที่ดินอีกต่อไป โดยเก็บเต็ม 100%
ประเภทภาษีที่ดิน 2567
แบ่งประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษีไว้ 4 รายการ ดังนี้
1. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
2. ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
3. ที่ดินเพื่อพานิชยกรรม
4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า
ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพดานภาษีสูงสุด 0.15%
- สำหรับเจ้าของที่เป็นบุคคลธรรมดา หากมีที่ดินทำการเกษตร มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่ดินที่มูลค่าเกิน 50 ล้าน จะได้รับยกเว้น 50 ล้านบาทแรกแต่ส่วนเกิน 50 ล้านบาทแรก เสียภาษีตามอัตราปกติ
- สำหรับเจ้าของที่เป็นนิติบุคคล ก็เสียภาษีที่ดินตามอัตราปกติ
- อัตราภาษีปัจจุบัน จัดเก็บ 0.01-0.1%
ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เพดานภาษีสูงสุด 0.30%
- สำหรับบ้านหลังหลัก ที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดา และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่ถ้ามีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีตามอัตราปกติ
- สำหรับเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน (คอนโดมิเนียม หรือสร้างบ้านอยู่บนที่ดินเช่า) จะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีที่ดินตามอัตราปกติ
- แต่สำหรับคนมีบ้านหลายหลัง ไม่ว่าจะมีชื่อหรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ที่ดินหรือบ้านหลังที่ 2 จะต้องเสียภาษีทั้งหมด ไม่ได้รับการยกเว้น
- อัตราภาษีปัจจุบัน จัดเก็บ 0.02-0.1%
ข้อยกเว้น : หากเป็นทรัพย์สินที่ได้รับมรดกมาจะได้ลดภาษีอีก 50%
ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาได้รับมรดกเป็นบ้านพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย หากจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก่อนวันที่ 13 มี.ค. 2562 จะได้ลดภาษีที่ดิน 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย
ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม เพดานภาษีสูงสุด 1.20%
- หมายถึง ที่ดินอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและการอยู่อาศัย เช่น โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ โรงงาน หอพักรายวัน บ้านเช่ารายวัน โดยต้องเสียภาษีตามอัตราปกติ
- อัตราภาษีปัจจุบัน จัดเก็บ 0.3-0.7%
ที่รกร้างว่างเปล่า เพดานสูงสุด 3%
- ถ้ามีที่ดินเปล่าแต่ปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ใดใด จะถูกจัดเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสียภาษีแพงที่สุด
- และถ้าปล่อยรกร้างไว้นานติดต่อกัน 3 ปี เมื่อไปเสียภาษีในปีที่ 4 จะถูกเก็บเพิ่มอีก 0.3% และจะเพิ่มอัตราภาษีอีก 0.3% ในทุก ๆ 3 ปีที่ปล่อยที่ดินรกร้าง แต่โดยรวมทั้งหมดแล้วจะเก็บภาษีได้ไม่เกิน 3%
- อัตราภาษีปัจจุบัน จัดเก็บ 0.3-0.7%
สูตรคำนวณที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีด้วยกัน 3 สูตร
ที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ต้องจ่าย = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี
*ซึ่งต้องบอกว่า มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มาจาก*
มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมิณทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) - ค่าเสื่อมราคา
ห้องชุด
ภาษีที่ดินที่ต้องจ่าย = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี
มูลค่า ห้องชุด = ราคาประเมิณทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)
โทษปรับ
การปรับ ถือเป็นบทลงโทษในระดับเบื้องต้น สำหรับผู้ที่จ่ายภาษีที่ดินไม่ครบตามจำนวนที่ถูกเรียกเก็บภายในเวลาที่กำหนด โดยจะถูกปรับตามเกณฑ์ดังนี้ครับ
- ในกรณีจ่ายภาษีล่าช้า แต่จ่ายก่อนได้รับหนังสือแจ้งเตือน จะต้องเสียค่าปรับ 10% ของภาษีค้างชำระ
- ในกรณีจ่ายภาษีล่าช้า แต่จ่ายภายในระยะเวลาที่แจ้งไว้ในหนังสือแจ้งเตือน จะต้องเสียค่าปรับ 20% ของภาษีค้างชำระ
- ในกรณีจ่ายภาษีล่าช้าเกินเวลาจากหนังสือแจ้งเตือนที่ได้รับ จะต้องเสียค่าปรับ 40% ของภาษีค้างชำระ
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital