เช้านี้ที่หมอชิต - ในที่สุดก็ชัดเจน เงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ได้แน่ ๆ 50 ล้านคน ปลายปีนี้ นายกรัฐมนตรี นำทีมเศรษฐกิจ แถลงด้วยตัวเอง ทั้งที่มาของเงินและเงื่อนไขต่าง ๆ ยืนยันหลังโครงการ ทำเศรษฐกิจโตร้อยละ 1.2 - 1.6
นี่คือคำแถลงจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงหลังการประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต บอกว่า รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคทำตามสัญญา และที่สำคัญคือเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ส่วนไทม์ไลน์เป็นไปตามนี้ ร้านค้า และประชาชน จะลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) และเงินจะส่งถึงมือประชาชนในไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) ของปีนี้
สำหรับที่มาของเงินทำโครงการ ซึ่งเป็นหนึ่งคำถามสำคัญว่า โครงการนี้จะนำเงินมาจากแหล่งใดกันแน่ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจง ระบุว่า ทั้งโครงการใช้วงเงิน 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นการจัดการงบประมาณในปี 2567 และปี 2568 ควบคู่กันไป แบ่งออกเป็นสามส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 คือเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเรียบร้อยแล้ว
ส่วนที่ 2 มาจากการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ
ส่วนที่ 3 มาจากการบริหารงบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลเอง จำนวน 175,000 ล้าน รวมถึงงบประมาณกลางก็อาจนำมาใช้ถ้าเงินไม่พอ
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รับหน้าที่ชี้แจงในส่วนเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ระบุว่า กลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน เป็นผู้มีอายุเกิน 16 ปีในวันที่ลงทะเบียน รายได้ต่อปีภาษีไม่เกิน 840,000 บาท มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
สำหรับเงื่อนไขการใช้จ่าย นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประชาชนนำไปใช้ได้กับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น ส่วนร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดพื้นที่และขนาดของร้านค้า ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม คือ ร้านค้าที่ถอนเงิน ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น และการถอนเงินสด ถอนทันทีไม่ได้ ต้องถอนหลังจากใช้จ่ายรอบที่ 2 เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงในการทุจริต และเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการจ่ายจะจ่ายรวดเดียว 10,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นคำจำกัดความของร้านค้าขนาดเล็กที่ประชาชนนำเงินดิจิทัลนี้ไปใช้ได้ ยังเป็นข้อสงสัยของสื่อมวลชน โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อที่มีสาขานับหมื่นแห่งทั่วประเทศ จะถือเป็นร้านขนาดเล็กหรือไม่ นายจุลพันธ์ ได้ตอบคำถามนี้อย่างคลุมเครือ ขณะที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ร้านสะดวกซื้อในปั๊ม ร้านค้าปลีกขนาดเล็กทั้งหมดสามารถใช้จ่ายได้
ถ้าฟังแบบนี้ คล้าย ๆ ยืนยันว่า ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาทั่วประเทศ จะอยู่ในเงื่อนไขที่ใช้เงินได้ใช่หรือไม่
ในเรื่องนี้ก็มีข้อสังเกตจาก นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ทายถูกมาตลอดว่า โครงการนี้ทำจริงได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดทางกฎหมายมากมาย รวมถึงต้องกู้เงินมาทำโครงการอย่างแน่นอน และในการอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ได้ทำนายถึงแหล่งที่มาของเงินไว้ 3 ทาง จนทำให้ นายจุลพันธ์ ลุกขึ้นโต้ว่า ให้ลดการคาดการณ์ลง เพราะถ้าผิดเดี๋ยวจะหน้าแตกอีก อย่างไรก็ตาม ในการชี้แจงเมื่อวานก็ตอกย้ำว่า แหล่งที่มาของเงิน ตรงตามที่ นางสาวศิริกัญญา ทำนายไว้ทุกประการ
แม้ว่าในคำชี้แจงของรัฐบาลสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่มีคำว่ากู้สักคำ แต่ตอนนั้น นางสาวศิริกัญญา อธิบายว่า ในการใช้เงินจากงบปี 68 เพื่อทำโครงการนี้ต้องกู้ชดเชยการขาดดุลการคลังมาเพิ่ม ขณะที่เงินจาก ธกส. แม้จะใช้คำว่ายืม แต่ก็คือการกู้แบบหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดหรือระยะเวลาในการใช้เงินคืนออกมาจากรัฐบาล
ส่วนการใช้งบกลางปี 67 อาจจะต้องใช้ทริคในการนำไปใส่ในกองทุนของรัฐบาลก่อน จึงจะนำเงินมาใช้ได้ คาดว่าจะเป็นกองทุนประชารัฐ ตรงนี้จึงก็ต้องจับตากันต่อว่า นางสาวศิริกัญญา จะแม่นอีกหรือเปล่า เพราะความแม่นจนถึงตอนนี้นี้ถึงกับทำให้โซเชียลผุด #ไหมคิดนิดทำ เลยทีเดียว
และภายหลัง นายเศรษฐา นำทีมแถลงนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็มีทัศนะออกมาจาก นางสาวศิริกัญญา เช่นกัน บอกว่า อยากฝากรัฐบาล เมื่อยืนยันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะได้ใช้ในไตรมาส 4 ไม่เลื่อนแน่นอน ก็อยากเห็นแผนงานทั้งหมด เช่น การพัฒนาระบบแอปพลิเคชันใหม่จะเสร็จเมื่อใด เพราะมีการยืนยันจะไม่ใช้แอปฯ เป๋าตัง รวมถึงกรณีร้านสะดวกซื้อที่จะรวมอยู่ในร้านค้ารายเล็กที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ รายละเอียดก็ยังไม่ชัดเจน
นอกจากนี้ กลไกที่ยุ่งยากในการแลกเงินดิจิทัลเป็นเงินสด ก็อาจทำให้ร้านค้ารายย่อยตัวจริงไม่อยากเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้โครงการไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ ไปฟังมุมมองจาก นางสาวศิริกัญญา กัน