เปิดปี 2567 บัตรทองอัปเกรดใหม่ 30 บาท รักษาทุกที่ จะมีเงื่อนไขอย่างไร ใช้สิทธิได้ที่ไหนบ้าง ?
สิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า เป็นสิทธิที่คนไทยกว่า 47 ล้านคน ใช้เพื่อการรักษาพยาบาล ที่ผ่านมายังพบความไม่สะดวกสบายจากการใช้บริการในหลายประเด็น เช่น หากจะใช้สิทธิข้ามเขต จะต้องขอใบส่งตัว ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอ จับบัตรคิว รอคิว และรอออกใบส่งตัวกว่าครึ่งวัน หรือการใช้สิทธิบัตรทองสามารถใช้สิทธิได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และก้าวสู่สังคมดิจิทัล รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จึงเกิดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อปิดช่องโหว่การให้บริการด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยจะเริ่มนำร่อง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส และคนไทยในต่างประเทศ สปสช. เปิดให้สามารถใช้สิทธิ 30 บาทหรือบัตรทอง ผ่านบริการ Telemedicine ที่ร่วมกับ สปสช. ได้ ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นต้นไปและภายในเดือนมีนาคมนี้ โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ จะขยายไปอีก 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสระแก้ว และจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้
30 บาทรักษาทุกโรคมีอะไรอัปเกรดใหม่บ้าง
1. จองคิวออนไลน์ ลดเวลารอหมอที่โรงพยาบาล
2. เข้ารับบริการสถานบริการพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ทำฟัน กายภาพบำบัด ฟรี
3. ไม่ต้องขอใบส่งตัว และสามารถขอเอกสารทางแพทย์ดิจิทัล ผ่านหมอพร้อมได้เลย
4. ตรวจเลือด ตรวจแลปในสถานบริการเอกชน ตามใบสั่งดิจิทัลของหมอ ไม่ต้องรอคิว โรงพยาบาลรัฐ
5. รับยาที่บ้าน หรือร้านยาเอกชน ให้บริการเภสัชกรรมออนไลน์
6. พบแพทย์ทางไกล ไม่ต้องเดินทางไกล
7. การบันทึกประวัติสุขภาพออนไลน์
ขั้นตอนการใช้สิทธิต้องทำอย่างไรบ้าง ?
สำหรับขั้นตอนของการใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชน สำหรับบุคคลทั่วไป หรือสำหรับเด็กเล็ก ใช้สูติบัตรพร้อมบัตรประชาชนผู้ปกครอง ยื่นที่หน่วยบริการและรับบริการตามขั้นตอนปกติ โดยหากต้องรับยา บางโรงพยาบาลสามารถเลือกรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือส่งยาทางไปรษณีย์ได้หรือถ้าใครที่อยากนัดหมายล่วงหน้า ไม่อยากไปรอคิวที่สถานพยาบาล สามารถทำได้ผ่านระบบ “หมอพร้อม” ทั้งทางแอปพลิเคชันและ Line Official Account รวมถึงทางแอป “เป๋าตัง” เมนู “กระเป๋าสุขภาพ” สำหรับบริการด้านเสริมสร้างสุขภาพ
“สิทธิบัตรทอง” รักษาอะไรได้บ้าง ?
นอกจากสิทธิบัตรทองจะอัปเกรด รักษาได้ทุกที่แล้ว ยังสามารถใช้สิทธิการรักษาและดูแลสุขภาพได้เหมือนเดิม ตั้งแต่การเจ็บป่วยเล็กน้อย ไข้ ไอ ไม่สบาย อุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเจ็บป่วยระดับอันตรายต่อชีวิต
ผู้ใช้สิทธิหลักประกันอาจยังไม่ทราบว่าทุกวันนี้ระบบบัตรทองครอบคลุมการรักษา โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง-โรคราคาแพง-โรคเรื้อรัง
ตัวอย่างโรคที่บัตรทองรักษาฟรี
- โรคมะเร็ง
- ผ่าตัดสมอง
- โรคปอดระยะสุดท้าย
- การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม
- โรคหัวใจ
- โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
- การรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูง
- โรคอื่น ๆ
สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค
- สร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน
- รับยาคุม-ถุงยางอนามัย
- คุมกำเนิด
- ตรวจการตั้งครรภ์-ฝากครรภ์
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่โต
- ตรวจคัดกรองภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- ตรวจสุขภาพช่องปากและทำความสะอาดฟัน
- ทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน
สำหรับผู้ที่อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบัตรทอง ในจังหวัดที่อาศัยอยู่ มีหน่วยบริการที่ไหนบ้าง หรืออยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบัตรทอง สามารถสอบถามได้ตามช่องทางดังนี้
- สายด่วน โทร.1330
- เว็บไซต์ www.nhso.go.th
- Line Official Account ของ สปสช. @nhso
นอกจากนี้ สปสช. เพิ่มช่องทางพิเศษสำหรับให้ข้อมูลและขั้นตอนการใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ พร้อมช่วยแก้ไขปัญหากรณีติดขัดการเข้ารับบริการ ซึ่งสามารถกดหมายเลขบริการของสายด่วน 1330 ตามจังหวัดที่อยู่ได้ทันที โดยพร้อมให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital