ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ชาวบ้านสตูลฮือฮา หลังเจอ ปลาออร์ฟิช หรือที่คนไทยเรียกว่า ปลาพญานาค โผล่อยู่ในทะเลฝั่งอันดามัน จนบางคนโยงไปที่เรื่องความเชื่อ ลางบอกเหตุภัยพิบัติ
ผวา ! เจอ ปลาออร์ฟิช หรือ ปลาพญานาค โยงความเชื่อ จ.สตูล
ถ้าพูดถึงเรื่องความเชื่อ พญานาค หนึ่งในรูปที่มีชื่อเสียงที่สุด คงเป็นภาพถ่ายเหล่านายทหารกว่า 20 นาย กำลังโอบอุ้มปลาที่มีความยาวมากกว่า 7 เมตร โดยปลาตัวดังกล่าว คือ ปลาออร์ฟิช (Oarfish) หรือที่คนไทยเรียกว่า ปลาพญานาค
ช่วงแรกมีการพูดแบบปากต่อปากว่า เหตุการณ์ในรูปเกิดขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ก่อนถูกเฉลยในภายหลัง เป็นภาพทหารสหรัฐ กำลังจับปลาออร์ฟิช ที่บริเวณชายหาดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ของสหรัฐอเมริกา ใกล้ชายหาดโคโลนาโด รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539
นอกจากนี้ยังความเชื่อแปลก ๆ อีกว่า หากพื้นที่ใด พบเจอปลาออร์ฟิช พื้นที่เหล่านั้น อาจเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิ
ยันออกทะเลกว่า 30 ปี ไม่เคยเจอปลาออร์ฟิช จ.สตูล
กระทั่งเมื่อวานนี้ (3 ม.ค.) ชาวประมงในจังหวัดสตูล พากันแตกตื่นยกใหญ่ เมื่อไต๋เรือ ของเรือ ก.เทพเจริญพร 15 ในพื้นที่อำเภอละงู ได้เจอปลาออร์ฟิช ขนาดความยาวประมาณ 2 เมตร 40 เซนติเมตร ท่ามกลางความเชื่อลางบอกเหตุ เรื่องภัยพิบัติ
ทีมข่าวสอบถามคุณกิ๊ก ไต๋เรือที่เป็นคนพบปลาออร์ฟิช เล่าว่า ระหว่างวางเรือไดปลาตามปกติ ปลาตัวดังกล่าว (ขาดมา 3 ท่อน) ได้ติดมาด้วย ช่วงแรกไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไร จนแม่ค้าขายปลา ทักว่า มีลักษณะคล้ายปลาน้ำลึก
ซึ่งจะพบก่อนเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น จนลูกสาวนำไปเผยแพร่ในโลกโซเชียล ทำให้รู้ว่าคือปลาออร์ฟิช โดยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ออกเรือมา ไม่เคยเห็นปลาแบบนี้
รวมถึงปีนี้ เกิดเหตุการณ์แปลก ๆ ในทะเลฝั่งอันดามัน เมื่อมีปลาลักษณะแปลก ๆ หลายชนิด โผล่เข้ามาเยอะกว่าปกติ แต่คงเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องลางบอกเหตุ หรือปลาแผ่นดินไหวอย่างที่โลกโซเชียลตั้งชื่อให้
วอนอย่าตื่นตระหนกเจอปลาออร์ฟิช ไม่เกี่ยวภัยพิบัติ จ.สตูล
จากนั้น นางสาวอภิรดี ณ ไพรี นักวิชาการประมงปฏิบัติการ สำนักงานประมงจังหวัดสตูล ได้เดินทางไปรับซากปลาออร์ฟิช เพื่อนำไปเก็บที่สำนักงานประมงจังหวัดสตูล แล้วส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ เรื่องสายพันธุ์ของปลาทะเลน้ำลึกตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนจะส่งไปยังพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
นางสาวอภริดี บอกว่า จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ อ้างว่า เคยเจอปลาลักษณะคล้ายปลาออร์ฟิชมาบ้าง แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่ ส่วนเรื่องความเชื่อนั้น ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก
อ.ธรณ์ ชี้ปรากฎการณ์ธรรมชาติ เจอปลาออร์ฟิช
เช่นเดียวกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กบางช่วงว่า ปลาออร์ฟิช เป็นปลาน้ำลึก พบได้ทั่วโลก แต่เนื่องจากอยู่น้ำลึก คนจึงไม่คุ้นเคย รูปร่างยังประหลาด บางคนเรียก ปลาพญานาค แต่ทุกคนไม่ต้องตื่นตกใจ แม้เราอาจได้ยินว่าเป็นปลาแผ่นดินไหว แต่เป็นการว่ายเข้ามาที่ฝั่ง ไม่ใช่จับมา แม้ว่ายมาฝั่ง ก็ไม่ใช่ทุกครั้ง และเชื่อว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า
จากนั้น ดร.ธรณ์ โพสต์อีกครั้งว่า ปรกติปลาออร์ฟิชไม่ขึ้นแถวผิวน้ำ ที่เคยจับได้ตอนสำรวจในญี่ปุ่น เป็นอวนลากน้ำลึก แต่ตัวนี้เป็นอวนล้อม ปรกติหากขึ้นมาที่ตื้นขนาดนี้ แทบไม่มีโอกาสรอด เมื่อดูจากบริเวณที่จับได้ ถือว่าน้ำตื้น (เทียบกับเขตที่อยู่ปรกติ) และเข้ามาไกลจากเขตน้ำลึก
ส่วนปรากฎการณ์ IOD (การสลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย) น่าจะมีผลอยู่บ้าง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ปลาเข้ามาตามน้ำจากที่ลึก โดยออร์ฟิช กินแพลงก์ตอน กินกุ้งปูขนาดเล็ก ไม่ได้กินคนหรือสัตว์ใหญ่ แต่พฤติกรรมการกินอาหาร แทบไม่มีใครเห็น เป็นไปได้ว่าปลาตัวนี้อาจตามน้ำเย็น ที่มีธาตุอาหารจากทะเลลึกเยอะ ทำให้มีแพลงก์ตอนเยอะ จนเข้ามาไกลจากถิ่นอาศัยเดิม จะยังไงก็ตาม ถือเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของไทย คงมีประโยชน์มากต่อการเรียนรู้ในอนาคต
ขอบคุณภาพจาก : Facebook สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35