logo ข่าวเย็นประเด็นร้อน

คืบหน้า ! สถานการณ์น้ำท่วม นราธิวาสยังวิกฤต ทั้ง 13 อำเภอ | ข่าวเย็นประเด็นร้อน

ข่าวเย็นประเด็นร้อน : ข่าวเย็นประเด็นร้อน - น้ำท่วมนราธิวาสยังวิกฤต ทั้ง 13 อำเภอ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน ชาวบ้า ช่อง7,ช่อง7HD,CH7,CH7HD,7HD,CH7HDNEWS,ข่าว,ข่าว7,ข่าวช่อง7,ข่าววันนี้,ข่าวใหม่,ข่าวล่าสุด,ข่าวสด,ข่าวเด็ด,ข่าวด่วน,ข่าวร้อน,ข่าวไทย,ข่าวออนไลน์,ข่าวโซเชียล,ข่าวสังคม,ข่าวภูมิภาค,ข่าวเศรษฐกิจ,ข่าวการเมือง,ดูทีวีย้อนหลัง,ดูรายการย้อนหลัง,ดูย้อนหลัง,ถกไม่เถียง,ทินถกไม่เถียง,TERODigital,ข่าวเย็นประเด็นร้อน,สวิตต์ ลีละพงศ์วัฒนา,สงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์,เปรมสุดา สันติวัฒนา,ฝนฟ้าอากาศ,ทิน โชคกมลกิจ

500 ครั้ง
|
26 ธ.ค. 2566
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - น้ำท่วมนราธิวาสยังวิกฤต ทั้ง 13 อำเภอ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ถึงขั้นต้องหนีน้ำปีนขึ้นไปอยู่บนขื่อบ้าน
 
คืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วม จ.นราธิวาส
 
นี่เป็นคลิปที่ชาวบ้านหลายชีวิต ต้องหนีตายปีนขึ้นไปอยู่บนขื่อบ้าน ท่ามกลางน้ำที่ไหลเชี่ยวเข้าท่วมภายในบ้านพัก พื้นที่บ้านบาโงตา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยคลิปนี้ถูกโพสต์ในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตี 4 น้ำท่วม บ้านบาโงตา บ้านผม ฝนยังไม่หยุดตก น้ำไม่ลด มอเตอร์ไซค์ 5 คันจม รถยนต์ 2 คันจมเหลือแต่หลังคา ให้ชีวิตรอดก่อน
 
ส่วนสถานการณ์น้ำที่ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก เกิดพัง น้ำไหลทะลัก เจ้าหน้าที่สั่งระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเข้าเสริมการวางบิกแบ็กและแก้ปัญหาน้ำล้นตลิ่งพนังกั้นน้ำมูโนะ
 
โดย นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่บ้านมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวพบปัญหา 2 จุด คือ น้ำที่ทะลักบริเวณรอยต่อคันดินกับบิกแบ็กตรงประตูระบายน้ำปากคลองมูโนะ ฝั่งขวา ซึ่งอยู่คนละฝั่งกับตลาดมูโนะ ตรงจุดนี้น้ำที่ล้นมาจากแม่น้ำโก-ลก จะไหลลงพื้นที่ด้านนอกที่ไม่กระทบชุมชน ส่วนนี้ล่าสุดได้ระดมเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักร เข้าไปวางบิกแบ็ก และเสริมด้วยกระชุหินเสริมความแข็งแรงอีกชั้นหนึ่ง ส่วนน้ำที่ล้นตลิ่งบริเวณพนังกั้นน้ำ บ้านมูโนะ จากการประเมินระดับน้ำที่กลางน้ำในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก พบว่าในพื้นที่ดังกล่าวน้ำลดลงชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าช่วงที่ปริมาณน้ำไหลสูงสุดได้ผ่านเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก มาที่บ้านมูโนะแล้ว ดังนั้นปริมาณจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเล็กน้อย จุดนี้จะนำกระสอบทรายมาวางเสริมคันให้สูงขึ้น เบื้องต้น จะวางไว้ 2 ชั้น แต่หากประเมินแล้วปริมาณฝนยังตกหนัก และระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้น ก็จะนำกระสอบทรายมาเพิ่ม 1-2 ชั้น ส่วนน้ำจากแม่น้ำโก-ลก ที่ล้นเข้ามาจะไหลลงทางท่อระบายน้ำในเขตชุมชนบ้านมุโนะ และผ่านระบบระบายน้ำคลองชลประทานมูโนะ ซึ่งอาจจะมีท่วมขังในชุมชนบ้างแต่ไม่มากนัก ทั้งนี้ จะมีการประเมินสถานการณ์รายชั่วโมง โดยจนถึงขณะนี้ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
 
ส่วนที่ หมู่บ้านยะกัง เมืองนราธิวาส นอกจากจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว ยังเคราะห์ซ้ำ เกิดไฟไหม้บ้านพักในชุมชนอีก ชาวบ้านถ่ายคลิปไป ร้องไห้ไป
 
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ทำงานอย่างยากลำบาก ต้องขับรถดับเพลิงลุยน้ำเข้าไประงับเหตุ โดยการช่วยเหลือเป็นไปอย่างทุลักทุเล
 
ด้าน นายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส รานงานสถานการณ์อุทกภัย หลังเกิดฝนตกหนักช่วงวันที่ 22-25 ธันวาคมที่ผ่านมา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้ง 13 อำเภอ 68 ตำบล 410 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 28,049 ครัวเรือน 109,545 คน โรงเรียน 254 แห่ง วัด 18 แห่ง มัสยิด 13 แห่ง ถนน 2 สาย สะพาน 1 แห่ง เป็นต้น
 
ขณะที่การช่วยเหลือ ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้กำชับให้หน่วยงานต่าง ๆ ระดมสรรพกำลังช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง และยังคงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
 
ด้าน สถานีอุตุนิยมวิทยานราธิวาส แจ้งว่ามีฝนตกช่วงเช้าถึงสายบริเวณอำเภอรือเสาะ ศรีสาคร ระแงะ เจาะไอร้อง และตกช่วงบ่ายถึงค่ำบริเวณอำเภอตากใบ สุคิริน แว้ง และตกช่วงดึกถึงเช้ามืดวันพรุ่งนี้ (27 ธ.ค.) บริเวณอำเภอศรีสาคร จะแนะ ตากใบ สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก เป็นฝนกำลังอ่อนถึงปานกลาง ยังคงเฝ้าระวังระดับน้ำใน 3 ลุ่มน้ำสายหลัก ลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำสายบุรี และ ลุ่มน้ำโก-ลก อย่างใกล้ชิด
 
พบแล้ว 2 ศพ เหตุเรืออพยพล่ม - เร่งหาอีก 2 ผู้สูญหาย จ.นราธิวาส
 
ความคืบหน้ากรณีผู้สูญหาย 4 ราย ในเหตุการณ์น้ำท่วม ที่ ตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส คือ 1.นางคอดีเยาะ อายุ 89 ปี 2.นางอาอีเสาะ อายุ 63 ปี 3.ด.ช. นาซูฮาร์ อายุ 8 ขวบ และ 4.เด็กหญิงอายุ 3 ขวบ โดยสูญหายหลังเรือพลิกคว่ำ ขณะเจ้าหน้าที่กำลังขนย้ายชาวบ้าน 
 
ล่าสุด พบศพผู้สูญหายแล้ว 2 ราย เป็นผู้ใหญ่ทั้งคู่ คาดว่าจะเป็นยายและแม่ที่หายไป ตอนนี้เจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาอีก 2 ชีวิต ที่สูญหาย เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 3 ขวบ และ 8 ขวบ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน
 
น้ำท่วมขยายวงกว้าง จ.ยะลา
 
ที่ จังหวัดยะลา น้ำท่วมขยายวงกว้าง 7 อำเภอ โดยเฉพาะชาวบ้านริมแม่น้ำสายบุรี อำเภอรามัน เดือดร้อนหนัก หนึ่งในนั้นเป็นผู้พิการ ต้องนั่งวีลแชร์แช่น้ำ ทั้งที่ใส่สายสวนปัสสาวะ โดยชายพิการรายนี้โพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า น้อมรับทุกการทดสอบในครั้งนี้ หมดไม่เหลืออะไรสักอย่าง แม้แต่เสื้อผ้าที่จะใส่
 
ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพหนี และไม่สามารถนำสิ่งของภายในบ้านออกมาได้ ทำให้ได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยบางครอบครัวมาอาศัยบริเวณเต็นท์ ริมถนนสายท่าสาป-บ้านเนียง อำเภอเมืองยะลา และริมถนนสายรามัน-ตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน
  
โดยสถานการณ์น้ำยังวิกฤต บางจุดระดับน้ำท่วมสูง 5 เมตร ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 900 ครัวเรือน บางส่วนยังติดค้างในชุมชน ซึ่งการช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยว ซึ่งผู้ประสบภัยต้องการอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ผ้าอนามัย และสิ่งของอุปโภคบริโภค
 
การจราจรยะลา
 
ล่าสุด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา โพสต์ประชาสัมพันธ์การจราจรในเขตพื้นที่เมืองยะลา ดังนี้
 
1. จากแยกตือเบาะถึงโพธิ์ทอง น้ำท่วมขังตั้งแต่ร้านข้าวต้มกุ๊ยหม้อดินถึงสามแยกโพธิ์ทอง รถยนต์สามารถสัญจรได้ จยย.ไม่ควรใช้เส้นทาง
 
2. แยกเนินหูกวาง รถยนต์สามารถสัญจรได้ ส่วนรถจักรยานยนต์ควรใช้ความระมัดระวัง
 
3. แยกบ้านลิมุด อำนวยความสะดวกการจราจรอย่างต่อเนื่อง น้ำบริเวณคอสะพาน 418 บ้านลิมุด มีปริมาณน้ำท่วมบ้านเรือนชาวบ้านปริมาณน้ำสูงมาก
 
4. แยกไฟแดงวิฑูลอุทิศ10 มีน้ำท่วมขัง รถสามารถสัญจรได้
 
5. ถนนสาย 409 ยะลา-บ้านเนียง มีน้ำท่วมขังทั้งขาออกและขาเข้าเมือง ปิดการจราจร รถไม่สามารถผ่านได้ จะไปบ้านเนียงใช้เส้นทาง 418-บ้านสีคง-ลำใหม่
 
6. ถนนสิโรรส-ทางไปเรือนจำ ปิดการจราจร รถไม่สามารถผ่านได้
 
7. หน้าโรงแรมยะลารามา ปิดการจราจร รถไม่สามารถผ่านได้
 
ปัตตานีน้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง
 
สถานการณ์น้ำใน จังหวัดปัตตานี ชลประทานขึ้นธงแดง หลังฝนตกหนัก ส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน สูงสุดได้ 111.40 มม. ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำและในคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไหลเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอหนองจิก อำเภอยะรัง อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ อำเภอไม้แก่น และ อำเภอสายบุรี
 
ขณะที่ สำนักงานชลประทานที่ 17 โดยโครงการชลประทานปัตตานี และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 6 เครื่อง บริเวณจุดเสี่ยงทั้ง 4 แห่ง และเดินเครื่องเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำอย่างใกล้ชิด
 
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากไว้ก่อนหน้านี้ด้วยแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด
 
จ่ออพยพชาวบ้านริมทะเล คลื่นแรงซัดถนนขาด จ.สงขลา
 
ขณะเดียวกัน สภาพคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยที่มีกำลังแรง เริ่มส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดสงขลา โดยคลื่นได้ซัดกระหน่ำถนนเลียบชายทะเล บ้านบ่ออิฐ หมู่ 8 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นถนนที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้สัญจรทุกวัน ระยะทางเกือบ 100 เมตร เนื่องจากคลื่นที่มีความรุนแรงยังคงซัดกระหน่ำดินทรายใต้ท้องถนนตลอดเวลา ชาวบ้านริมทะเลพากันเร่งเก็บข้าวของเตรียมอพยพ
 
ซึ่งหากคลื่นแรงอย่างนี้อีกสัก 2 วัน อาจจะถึงบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ข้างถนนดังกล่าว อย่างเช่น บ้านของนายเจ็ะมะแอ การดี คลื่นซัดดินทรายถึงที่รั้วบ้านแล้ว จึงขอความช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่รีบมาช่วยแก้ปัญหา โดย นายเจ็ะมะแอ บอกว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ได้นำหินขนาดใหญ่มาถมเพื่อป้องกันคลื่นกัดเซาะ ก่อนจะเซาะถึงบ้านต้วเอง กับอีก 9 หลังคาเรือน จะได้ไม่ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ซื่งขณะที่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้ประกาศเตือนคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูง 2-4 เมตร ของภาคใต้ตั้งแต่ช่วงวันที่ 24-26 ธันวาคม 2566 ทำให้อยู่อย่างพะวง กลางคืนนอนไม่ค่อยหลับเพราะกลัวว่าน้ำทะเลจะกัดเซาะเข้ามาถึงบ้าน
 
สุทิน สั่งเหล่าทัพดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้อย่างเต็มที่
 
ด้าน นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ว่าได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพช่วยประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะเป็นนโยบายของกองทัพ หากมีปัญหาอะไรต้องช่วยประชาชน และได้ตรวจสอบสถานการณ์อยู่ตลอด แม้จังหวัดยะลาจะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 30 ปี ก็เชื่อว่ากองทัพจะทำการช่วยเหลือประชาชนได้ดี เพราะมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นกำลังพล ในการขนย้ายคน สัตว์ สิ่งของ และเครื่องมือ ทั้งเรือ และรถ กองทัพมีเครื่องมือพร้อมที่สุด จึงจะระดมกำลังเข้าช่วยเหลือให้เต็มที่
 
ล่าสุด ขณะนี้กองทัพภาคที่ 4 ได้ดำเนินการลุยช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับรายงานว่าดำเนินการเป็นไปด้วยดี แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแรงเกินคาด และนอกจากน้ำท่วมแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการใช้ไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง และโรคภัยไข้เจ็บที่จะซ้ำเติมประชาชนด้วย เพราะฉะนั้นต้องระวังทุกอย่าง และทางกองทัพก็เตรียมการหลังน้ำลดในการฟื้นฟู ยืนยัน กองทัพทุ่มเทช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
 
อย่างไรก็ตาม ขอฝากผ่านไปยังประชาชนว่าหากมีความเดือดร้อนอะไรก็ให้บอกกองทัพ เพราะกองทัพอาจจะยังไม่ทราบปัญหาและความต้องการการช่วยเหลือของประชาชน จะได้ให้ความช่วยเหลือให้ดีที่สุด และยืนยันว่า ในส่วนกลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ช่วยเหลือประชาชนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว
 
นายกฯ บินด่วนลงพื้นที่ จ.นราธิวาส
 
ช่วง 14.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส หลังเกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ โดย นายกรัฐมนตรี จะตรวจดูสถานการณ์และพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน รวมถึงจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแผนการรับมือและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เช่น การระบายน้ำ ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
 
จากนั้น เวลาประมาณ 18.00 น. นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางต่อไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้การต้อนรับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ซึ่งเดินทางมาเป็นการส่วนตัว และจะมีการหารือวงเล็ก โดยมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ร่วมพูดคุยด้วยในประเด็นการตั้งคณะกรรมการชายแดนไทย-มาเลเซีย 4 ด้าน ประกอบด้วย การค้าชายแดน การเกษตร การท่องเที่ยว และความมั่นคง รวมถึงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ จะมีการพูดคุยถึงสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
 
ดร.เสรี ถอดบทเรียน นราธิวาส จมบาดาล
 
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง นราธิวาสจมบาดาล บทเรียนและช่องว่างที่ไม่แก้ไขสักที โดยระบุบางช่วงว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ตนเองได้แจ้งเฝ้าระวังเหตุการณ์ฝนตกหนักมาก และน้ำไหลหลากบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา และปัตตานี) ระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม เนื่องจากผลการประเมินดัชนีความรุนแรงของปริมาณฝน อยู่ในระดับ 90 (เป็นระดับรุนแรงวิกฤต) ซึ่งไม่เคยเจอมาก่อน
 
มีคำถามว่า ปริมาณฝนขนาดนี้ จะสร้างความเสียหายขนาดไหน หน่วยงานใดจะทำหน้าที่ประเมินความรุนแรงของเหตุการณ์ หน่วยงานใดจะแจ้งเตือนแบบถึงตัวชาวบ้าน เพื่อเตรียมแผนอพยพประชาชน ตรงนี้ยังเป็นช่องว่างที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น หน่วยงานกลาง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นองค์กรด้าน Regulator ไม่ใช่ Operator ขาดความเข้าใจสภาพพื้นที่ และองค์ความรู้เฉพาะด้าน คำตอบจึงอยู่ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น ที่เป็นผู้ประสบภัย คำถามจึงอยู่ว่า ท้องถิ่นที่ว่าจะเป็นหน่วยใด? มีเทคนิคอย่างไร?
 
ทั้งนี้ สถานการณ์ฝนในนราธิวาส ยังมีอยู่จนถึงปลายปี ซึ่งจะไม่ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น หากการระบายน้ำภายใน 1-2 วัน มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนของภาคใต้ เรื่องของพายุฝน ต้องติดตามสถานการณ์ด้วย
 
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
 
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง