ข่าวเย็นประเด็นร้อน - แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลุกลามหลอกผู้คนด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่การปลอมเว็บไซต์ของตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อหลอกคนที่กำลังตกทุกข์ต้องการแจ้งความ ให้เขาเสียหายซ้ำอีก โดยเฉพาะคนที่โดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอก แล้วต้องการแจ้งความ กลับต้องถูกแก๊งนี้หลอกซ้ำซ้อน ซึ่งตำรวจก็พบว่าเพียง 15 วัน หลอกเหยื่อไปกว่า 1,000 ราย เสียหายกว่า 8 ล้านบาท และก็พบเงินทุนหมุนเวียนของแก๊งนี้มากถึง 7,000 ล้านบาท
พลตำรวจโท จักรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงการจับกุมแก๊งนี้ โดยตำรวจหลายหน่วยจากกองบัญชาการสอบสวนกลาง ร่วมกันตรวจค้น 9 เป้าหมาย ใน 5 จังหวัด จับกุมผู้ต้องหา 5 ราย เป็นคนจีน 1 ราย, คนไทย 3 ราย, คนกัมพูชาอีก 1 ราย
ที่มาที่ไปของการสืบสวนจับกุมแก๊งนี้ เริ่มจากเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ตำรวจสอบสวนกลาง ตรวจสอบพบเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอม โดยปลอมเว็บไซต์เป็นตำรวจสอบสวนกลาง รวมทั้งเว็บไซต์หน่วยตำรวจที่อยู่ในสังกัดตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งแก๊งนี้จะใช้วิธียิงแอดโฆษณา ทำให้เมื่อประชาชน ค้นหาคำว่า แจ้งความออนไลน์ เว็บไซต์ปลอมเหล่านี้ จะแสดงขึ้นมาเป็นลำดับแรก ๆ
ในเว็บไซต์ปลอมจะมีลิงก์ให้เพิ่มเพื่อนในไลน์ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ ก็จะให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อน จากนั้นแก๊งนี้ จะพูดคุยสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจะทำทีให้ผู้เสียหายติดต่อพูดคุยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นทนายความผ่านไลน์ โดยจะให้คำปรึกษาและให้ผู้เสียหายส่งหลักฐานเรื่องที่ต้องการแจ้งความไปให้
จากนั้นคนร้ายที่อ้างเป็นทนายความ จะส่งเรื่องต่อไปยังคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที และแจ้งกับผู้เสียหายว่า เงินที่ถูกโกง หรือ ถูกหลอกไป ได้ถูกนำไปฟอกในเว็บพนันออนไลน์ต่างประเทศ และยังหลอกด้วยการทำแผนผังเส้นทางการเงินส่งให้ผู้เสียหายดู พร้อมแจ้งว่า สามารถนำเงินดังกล่าวมาคืนกับผู้เสียหายได้ โดยใช้วิธีการแฮกเว็บพนันดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ คนร้ายจะให้สมัครสมาชิก และโอนเงินไปที่เว็บพนัน จากนั้นจะให้เล่นการพนันตามที่บอก อ้างว่าเพื่อจะได้ทำการแฮกระบบ เอาเงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย
หลังจากคนร้ายอ้างว่าได้แฮกระบบเสร็จแล้ว จะปรากฎยอดเงินในบัญชีเว็บพนันของผู้เสียหายเพิ่มขึ้น คนร้ายก็จะให้โอนเงินเข้าไปเพิ่ม เพื่อที่จะได้แฮกเงินคืนให้ได้มากกว่าเดิม แต่ท้ายที่สุดเมื่อผู้เสียหายจะถอนเงินออกมา ก็ไม่สามารถถอนได้ จากนั้นคนร้ายจะบล็อกช่องทางการติดต่อของผู้เสียหายทันที
ตำรวจพบว่า ภายในระยะเวลาเพียง 15 วัน มีผู้เสียหายหลงเชื่อ โอนเงินให้กลุ่มคนร้ายมากกว่า 1,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท
จากการสืบสวนพบว่า เว็บไซต์ปลอมดังกล่าว ใช้ IP-Address ผู้ให้บริการของประเทศกัมพูชา และมีการเช่าเซิร์ฟเวอร์ภายในประเทศไทย ตำรวจจึงเข้าตรวจสอบ พบมีการปลอมเว็บไซต์ทั้งหน่วยงานรัฐ, หน่วยงานเอกชน, องค์กรต่าง ๆ ที่ไม่มีอยู่จริง รวมถึงเว็บไซต์หลอกลงทุนต่าง ๆ รวมกว่า 133 เว็บไซต์ เช่น ตำรวจสอบสวนสวนกลาง, DSI, ตำรวจไซเบอร์ โดยปัจจุบัน ยังพบเปิดใช้งานอยู่ 98 เว็บไซต์ ซึ่งตำรวจได้ปิดไปแล้ว 10 เว็บไซต์
ส่วนบัญชีที่ใช้รับโอนเงิน คนร้ายจะใช้บัญชีม้า แล้วถ่ายเทเงินไปยังบัญชีม้าแถวต่าง ๆ ก่อนจะนำเงินไปซื้อคริปโตเคอร์เรนซี แล้วถ่ายเทไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อเลี่ยงการถูกจับกุม ก่อนจะทำการส่งต่อไปยังกระเป๋าที่เป็นของกลุ่มคนร้ายที่เป็นระดับสั่งการ หรือ นายทุนต่อไป โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงปัจจุบัน บัญชีม้าและกระเป๋าเงินดิจิทัลต่าง ๆ ในกลุ่มของคนร้ายมียอดเงินหมุนเวียนมากกว่า 7,000 ล้านบาท
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35