หนุ่มร้อง ถูกตำรวจ จับกุมอุกอาจ ริมถนน โดยพยายามยัดข้อหา ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรผิด รวมทั้งทำร้ายร่างกายยับ ทั้งกระบองทุบ ปืนช็อตไฟฟ้า สุดท้ายไถเงิน 500 บาท !
วันที่ 16 พ.ย. 2566 กฤษฎา พุกเจริญ (เดี่ยว) ผู้เสียหาย ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด 35 เล่าว่า เมื่อคืนวันอังคารที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ระหว่างตนกำลังขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้าน ได้ถูกชายสองคน มี 1 คนสวมเสื้อกั๊กคล้ายตำรวจ แต่ทั้งคู่ไม่ได้แสดงตนเป็นตำรวจ ซึ่งทั้ง 2 คน ขับจักรยานยนต์มาปาดหน้ารถตน และทำการตรวจค้นตามร่างกาย รวมถึงตรวจค้นในรถจักรยานยนต์ แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย และได้ตรวจประวัติตนจากแอปในโทรศัพท์ของเขาแล้ว ก็ไม่ได้พบคดีอะไร จากนั้นพวกเขาพยายามหาเรื่องที่จะเอาผิดตนให้ได้ อ้างเรื่องชื่อรถไม่ตรงกับชื่อตน อ้างว่าไปขโมยมาหรือเปล่า ซึ่งมันเป็นรถชื่อของน้องตน พอจะให้น้องถ่ายสำเนารถมาให้ดู เขาก็ไม่ดู แล้วก็จะมาใส่กุญแจมือตน ตนเลยต้องยืนกางแขนคุยกับเขาตลอด เพื่อไม่ให้ถูกล็อกทั้ง 2 ข้าง จึงได้โดนจับล็อคแขน และตีด้วยกระบองบริเวณขาหลายครั้ง จนช้ำบวม พร้อมทั้งใช้ปืนไฟฟ้ามาช็อตบริเวณด้านหลังอีก 3 ครั้ง
จากนั้นเขาเลยวอเรียกตำรวจนอกเครื่องแบบอีกหลายคน เพื่อมาควบคุมตน เมื่อเขามาถึงเขาก็บังคับจับตนกดกับพื้นให้นั่งคุกเข่าเหมือนนักโทษ และได้ค้นตัวตนอีกครั้ง ก็มาเจอมีดพับขนาดเล็กของตน ที่ตนเอาไว้ใช้ตัดสายเคเบิลไทร์ แต่เขากลับยึดไป และนำมีดอีกอัน คล้าย ๆ มีดหมอ ยาวกว่าของตนอีก โดยเอามาให้ตนชี้และถือถ่ายรูป ซึ่งตนไม่ยอม แต่ก็ถูกตำรวจขู่กลับมาว่า ให้รีบทำจะได้กลับบ้าน ถ้าไม่ทำจะเอาข้อหาอื่นให้ ตนจึงต้องยอมทำตามเขา และก็ได้นำตัวตนไปโรงพัก จากนั้นน้องสาวตนก็มาที่โรพัก นำเอกสารรถมายืนยันกับตำรวจว่าไม่ได้ขโมยมา ขณะเดียวกันตำรวจพาน้องตนไปคุย เรียกค่าปรับ 100 บาท ข้อหาพกมีด และขออีก 500 บาท อ้างว่าเป็นค่าทำขวัญเพราะมีรอยแดงจากการจับกุมตน
ด้าน เอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามา พอได้คุยกับผู้เสียหายแล้ว เห็นบาดแผลเขาก็รู้ได้เลยว่าต้องโดนทำร้ายมาแน่นอน แต่คนที่ทำร้ายนั้นจะเป็นตำรวจหรือไม่ ต้องตรวจสอบก่อน ตนจึงได้ประสานไปยัง พ.ต.อ.ประภาส แก้วฉีด ผกก.สน.โคกคราม ซึ่งท่านก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ตนจึงได้พาผู้เสียหายไปพบ โดยท่านผู้กำกับเป็นคนรับเรื่องเอง และพาตัวผู้เสียหายไปแจ้งความด้วยตัวเอง ส่วนการตามหาตัวผู้ก่อเหตุ ทางท่านผู้กำกับรับเรื่อง ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอสืบสวน ซึ่งถ้าเป็นตำรวจในการดูแลของท่าน ท่านจะไม่เอาไว้แน่นอน ขณะเดียวกัน ตนก็ได้พาผู้เสียหายไปตรวจร่างกายนิติเวช ที่รพ.ภูมิพลฯ แล้วด้วย
ฟาก สงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้ความเห็นว่า การที่ตำรวจจะมาค้นตัวกลางถนนนั้นทำไม่ได้ ต้องทำการค้นในที่โล่งแจ้งมีแสงสว่างชัดเจน ที่สำคัญต้องแสดงบัตรประจำตัวตำรวจด้วย และต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้แอบแฝงอะไรไว้ก่อนตรวจค้น อย่างไรก็ตาม ตนอยากฝากบอกประชาชนว่า ถ้าเกิดโดนตรวจค้น ให้เอะอะโวยวายไว้ก่อนเลย ให้คนมามุงดู และเราสามารถขอให้ประชาชนที่มามุงดูเขาช่วยถ่ายคลิปไว้ได้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐาน แต่อย่าไปขวางการทำงานของตำรวจ
ขณะเดียวกัน ตำรวจจะไปบังคับอุ้มเขาไปใส่กุญแจมือไม่ได้ เพราะเขาไม่มีสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ได้มีพฤติกรรมหลบหนี จะอ้างมีดพกก็ไม่ได้เพราะเขายังไม่ได้เอาก่อเหตุอะไร ถ้าทำแบบนี้ตำรวจจะโดนข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง อีกทั้งยังจะโดนข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และที่หนักที่สุดคือเป็นเจ้าพนักงาน แต่เรียกรับสินบน ซึ่งเป็นความผิดยอมความไม่ได้ด้วย นอกจากนี้มีดของผู้เสียหายที่ตำรวจเอาไป ก็เข้าข่ายลักทรัพย์อีก และการที่เอามีดอันอื่นมาให้เขาถ่ายภาพชี้ ก็เข้าข่ายการสร้างหลักฐานเท็จอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การพกมีดในที่สาธารณะ หากไม่มีเหตุสมควรจะโดนปรับ 1,000 บาท แต่ผู้เสียหายเขามีเหตุสมควร เป็นมีดสำหรับการทำงาน
ขณะที่ เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เผยว่า ในเคสนี้ถ้าผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจริง ตอนนี้มันมี พ.ร.บ.ควบคุมการจับกุมอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องปฏิบัติ และประชาชนควรรู้ คือ ถ้าประชาชนโดนเจ้าหน้าที่จับกุมตัว เจ้าหน้าที่ต้องถ่ายคลิป บันทึกภาพและเสียง ตลอดเวลาจนกระทั่งนำตัวส่งพนักงานสอบสวน โดยเราให้ตำรวจทุกคนมีกล้องแล้ว อีกทั้งจากเหตุการณ์ "ผกก.โจ้" จึงได้มีการออกกฎหมายว่า ห้ามมีการกระทำทรมาน โหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อการจับกุม
นอกจากนี้ ตนแนะนำให้ติดต่อไปยังอัยการ เพื่อดูหลักฐานการจับกุมว่าตัวผู้เสียหายได้ถูกทำร้ายหรือไม่ เพราะตามปกติแล้ว เวลาตำรวจจับกุม เขาจะส่งเอกสารการจับกุม เป็นภาพ และเอกสาร ให้กับอัยการทุกครั้ง ถ้าติดต่อไปอัยการแล้วไม่มีเอกสารตัวนี้ ก็เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย สำหรับการเยียวยาผู้เสียหาย เคสนี้เข้าข่ายการทำร้ายร่างกาย จึงสามารถได้รับการเยียวยา สามารถส่งเอกสารมมารับเงินเยียวยาที่กรมคุ้มครองสิทธิ์ได้เลย
ล่าสุดวันนี้ สน.โคกคราม ได้มีการทำหนังสือชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้น ผ่านรายการถกไม่เถียง ใจความว่า บุคคลที่ปรากฏตามข่าว เป็นเจ้าหน้าที่ของตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปรามของ สน.โคกคราม โดยในขณะที่เกิดเหตุได้ออกตรวจพื้นที่ จนมาพบผู้เสียหายเข้า ซึ่งมีพฤติการณ์น่าสงสัย จึงขอตรวจค้นตัว ก็ได้มาพบอาวุธมีด จำนวน 1 เล่ม เลยแจ้งข้อหาพกพาอาวุธมี และนำตัวมาที่สน.โคกคราม แต่ผู้เสียหายไม่ยอม ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และยุทธวิธีทั้งหลาย เท่าที่จำเป็น เหมาะกับพฤติการณ์ จนสามารถส่งตัวให้เจ้าพนักงานสอบสวนได้ อีกทั้งได้เปรียบเทียบปรับเรียบร้อยแล้ว โดยยินยอมให้ปรับ ไม่ได้มีการโต้แย้งแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายมาแจ้งความเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 นาย ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งคำร้องทุกข์ไว้แล้ว และได้ส่งตัวไปตรวจร่างกายที่ รพ.ภูมิพลฯ แล้ว ขณะเดียวกัน ผกก.สน.โคกครามได้สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ของเจ้าหน้าที่สายตรวจดังกล่าวแล้ว โดยจะรวบรวมข้อเท็จจริงให้ครบทุกมิติ ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทุกฝ่าย อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ หากพบว่ามีมูลกระทำความผิดจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35