เช้านี้ที่หมอชิต - ศรีสุวรรณ จรรยา ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมแจกเงินดิจิทัลฯ 10,000 บาทของรัฐบาล เข้าข่ายขัดแย้งรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่
ศรีสุวรรณ ร้อง ปมแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัด รธน.
ประเด็นโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ยังเป็นปมจับตามอง ล่าสุดเมื่อวานนี้ (13 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐบาลตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 หรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลืนน้ำลายตัวเอง ใช้ช่องทางการกู้เงินมาแจก เพื่อหวังความนิยมทางการเมือง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 ประเทศ เพราะปัจจุบันยังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องกู้เงินเลย
สนธิญา จี้ กกต.รับผิดชอบปมแจกเงินดิจิทัลฯ
ส่วนนักร้องอีกคนอย่าง นายสนธิญา สวัสดี เดินทางไปยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อให้ กกต.ตอบคำถามว่า การที่พรรคการเมืองเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนโยบายเงินดิจิทัลฯ ไม่เป็นไปตามที่เคยยื่นต่อ กกต.ระหว่างที่หาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายเป็นการยื่นเอกสารเท็จต่อเจ้าพนักงาน ผิดกฎหมายอาญามาตรา 137 ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับหรือไม่ และผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 57 รวมทั้งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (2) (3) ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศหรือไม่ โดยนายสนธิญา ขู่ว่า หาก กกต.ตอบไม่ตรงความจริง เรื่องนี้ถึง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน
นายกฯ มั่นใจ พรรคร่วมหนุนแจกเงินดิจิทัลฯ
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ ว่า ไม่อยากให้แต่ละฝ่ายมีธง แต่ควรรับฟังความคิดเห็นว่า ข้อดีข้อเสียคืออะไร แล้วหยิบยกมาคุยกัน
ผู้สื่อข่าวถามกรณี นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ อาจไม่เกิดขึ้นจริง และอาจไม่ผ่านสภานั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า มั่นใจในเสียงของตนเอง และพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเราทำงานเป็นทีม เชื่อว่าจะผ่านได้
เมื่อถามว่า โหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยบางส่วน รู้สึกผิดหวังที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับเงิน เนื่องจากมีเงินเก็บเกิน 500,000 บาท แต่มีรายรับไม่เกิน 70,000 บาท นายเศรษฐา กล่าวว่า จะต้องกำหนดตัวเลขให้ชัด โดยคนที่มีรายได้เกิน 70,000 บาท และเงินเก็บเกิน 500,000 บาท รัฐบาลได้ออกโครงการอีรีฟันด์ หากมีการใช้จ่าย จะได้เงินคืนประมาณ 10,000 บาท เทียบเท่าเงินในโครงการดิจิทัลฯ
ส่วนที่ประชาชนมีข้อสงสัยว่า นอกจากเงินฝาก 500,000 บาท บุคคลที่มีเงินในกลุ่มอื่น เช่น สลากออมสิน หุ้นกู้ กองทุนรวม และเงินเกษียณ จะได้ด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า นับเฉพาะเงินฝากอย่างเดียว ไม่นับกองทุนรวม เพราะตรวจสอบไม่ได้ ส่วนเงินเกษียณ ถ้าไปในบัญชีก็นับรวมด้วย ส่วนเงินสดที่เก็บอยู่ที่บ้านไม่นับ โดยจะเริ่มตรวจสอบว่า มีเงินในบัญชีตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นไป
จุลพันธ์ เผย ไตรมาสแรก 2567 เปิดยืนยันตัวตนรับสิทธิ์เงินดิจิทัลฯ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 1/2567 กระทรวงการคลัง จะเปิดให้ยืนยันตัวตนรับสิทธิ์มาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ 50 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่มีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้ว 40 ล้านคน ก็ต้องกดปุ่มในแอปพลิเคชัน เพื่อยืนยันรับสิทธิ์ และอีก 10 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิ์อายุตั้งแต่ 16-18 ปี ต้องมีการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (KYC) เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้
นายจุลพันธ์ระบุว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะใช้ได้ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่เริ่มมาตรการ และคาดว่าจะหมุนเวียนอยู่ในระบบอีก 3 ปี มีการใช้จ่ายทวีคูณ กระตุ้นกลไกทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงการคลัง มั่นใจว่าเมื่อมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล เปลี่ยนจากคนแรกไปยังร้านค้า จะยังไม่มีการมาขอขึ้นเงินสดทันที เพราะหลังจากมาตรการมีผล จะมีมาตรการจูงใจอื่น ๆ ให้สิทธิประโยชน์จากการใช้เงินดิจิทัลด้วย ในช่วง 2 ปีแรกที่มีการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เงินดิจิทัลยังคงหมุนอยู่ในระบบต่อไป
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35