เช้านี้ที่หมอชิต - กรณีที่เด็กหญิงวัย 14 ปี กระโดดสะพานกรุงเทพ ลงแม่น้ำเจ้าพระยา เสียชีวิตสลด โดยพบว่าเด็กหญิงคนนี้มีประวัติแสนเศร้า เพราะถูกตาเลี้ยงกระทำชำเรามาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จนถึงอายุ 14 ปี ผู้ที่ทำกับเธอทุกวันนี้ได้ประกันตัวไปใช้ชีวิตตามปกติ พ่อและแม่เลี้ยงเข้ารับศพลูกสาวด้วยความโศกเศร้า พร้อมเปิดเผยหลักฐานที่อาจเป็นต้นตอให้ลูกสาวคิดสั้น
พ่อและแม่เลี้ยงของเด็กหญิงวัย 14 ปี ที่กระโดดแม่น้ำเจ้าพระยา เดินทางมาติดต่อขอรับศพลูกสาวที่อาคารภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนา บรรยากาศก็เป็นไปด้วยความเศร้าโศก
น.ส.นวลพรรณ แม่เลี้ยงของเด็ก เปิดเผยว่า ตนกับสามีเพิ่งประสานมูลนิธิปวีณาฯ ช่วยเหลือลูกออกมาจากครอบครัวฝั่งแม่ที่ จังหวัดชุมพร หลังทราบว่าเด็กถูกผู้มีศักดิ์เป็นตาเลี้ยง วัย 73 ปี ข่มขืนมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จนถึงอายุ 14 ปี เพิ่งรับมาอยู่ด้วยกันได้ 3 เดือน ไม่คิดว่าสุดท้ายลูกจะคิดสั้น
นายสุทัศน์ พ่อของเด็ก บอกว่า ลูกสาวเล่าว่าถูกตาเลี้ยงข่มขืนมานาน และถามว่าพ่อจะรับได้ไหม ตนกับภรรยาจึงประสานมูลนิธิปวีณาฯ รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี และช่วยพาลูกสาวออกมา โดยผู้ก่อเหตุพยายามโทรมาขอเจรจากับตนไม่ให้ดำเนินคดี บอกว่าแก่แล้ว อยากให้เจรจากัน แต่ตนเองมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงที่ผู้ก่อเหตุได้พูดคุยข่มขู่เด็กด้วย
ซึ่งถอดมาเป็นข้อความ เด็กถามว่า ถ้าหนูเอาเรื่องนี้ไปบอกคนอื่น แล้วจะเป็นอย่างไร ผู้ก่อเหตุตอบว่า พ่อก็ติดคุกน่ะสิ เด็กถามอีกว่า ถ้าหนูเอาเรื่องนี้ไปบอกคนอื่นจริง ๆ แล้วพ่อจะฆ่าหนูจริง ๆ เหมือนที่พ่อขู่ไว้ไหม ผู้ก่อเหตุตอบว่า มันก็ไม่แน่เหมือนกัน และถามเด็กว่า แล้วได้บอกใครไปบ้างหรือยัง เด็กก็ตอบว่า ไม่กล้าบอกหรอก ก็พ่อขู่หนูมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แล้วหนูจะกล้าพูดกับใคร
พ่อของเด็กหญิงอายุ 14 ปี บอกว่า คดีแบบนี้ตำรวจไม่ควรให้ผู้ก่อเหตุได้รับการประกันตัว เพราะทางผู้ก่อเหตุยังพยายามติดต่อมาที่เด็ก เหมือนเป็นการกดดัน คุกคาม อาจเป็นสาเหตุให้เด็กเกิดความกลัว วิตกกังวล และเครียดจนคิดสั้น ยืนยันว่า จะเอาผิดผู้ก่อเหตุจนถึงที่สุด ส่วนศพของลูกสาวจะนำไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ จังหวัดแพร่ และจะฌาปนกิจวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้
ด้าน คุณครูประจำชั้นของเด็กหญิงอายุ 14 ปี เปิดเผยว่า วันที่มาสมัครเรียน ได้ข้อมูลจากผู้ปกครองว่าน้องเจอเรื่องอะไรมา ทางโรงเรียนและครูทุกคนจึงดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กเป็นคนร่าเริงเข้ากับเพื่อน ๆ ได้ดี ไม่มีพฤติกรรมแยกตัวไปอยู่คนเดียว เชื่อว่าเรื่องการเรียนไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กคิดสั้น
ครูได้ฝากไปถึงผู้ปกครองทุกคนว่าให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกด้วย หากพบว่าผิดปกติก็ควรไปพบจิตแพทย์ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะแพทย์มีวิธีการพูดคุยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เด็กเครียดจนคิดสั้น
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม