ข่าวเย็นประเด็นร้อน - รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เซ็นคำสั่งเด้ง 3 ผู้คุม เซ่นคดี เสี่ยแป้ง โดยให้ออกจากราชการไว้ก่อน
จากกรณีที่ตำรวจ สภ.เมืองนครศรีธรรมราช ได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ทั้งหมด 3 ราย เป็นผู้คุมผลัดบ่าย 2 นาย และผู้คุมผลัดเช้า 1 นาย ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ที่ต้องคุมขังตามอำนาจศาล ซึ่งเป็นบุคคลต้องคำพิพากษาของศาลให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ที่อยู่ระหว่างคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขังไป โดยผู้คุมราชทัณฑ์ทั้ง 3 รายดังกล่าว ได้มีพฤติการณ์ปล่อยปละละเลยในการควบคุมดูแลผู้ต้องขัง นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ เสี่ยแป้ง นาโหนด นักโทษชายรายสำคัญ จนเป็นเหตุให้ นายเชาวลิต ก่อเหตุในช่วงกลางดึก วันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยการใช้กุญแจผีไขสะเดาะตรวนข้อเท้า และหนีออกจากโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และขณะนี้เจ้าตัวยังอยู่ระหว่างหลบหนีกบดาน
โดยล่าสุด นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ในกรณีดังกล่าว ตำรวจได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 157 และในส่วนของกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้ดำเนินการตรวจสอบประเด็นต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อทั้ง 3 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถูกศาลออกหมายจับ ตนจึงได้มีคำสั่งลงนามให้ทั้ง 3 ราย ออกจากราชการไว้ก่อน และเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามหลักการก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงควบคู่ไปด้วย ซึ่งการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงก็เพื่อพิจารณาเป็นคำสั่งไล่ออกจากราชการ แต่ในส่วนของผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และผู้อำนวยการส่วนควบคุมของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ถูกสั่งให้ไปปฏิบัติราชการอยู่ที่กรมราชทัณฑ์ จังหวัดนนทบุรี
ก่อนหน้านี้ ก็จะถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการฯ เช่นเดียวกัน เบื้องต้นทั้งคู่ยังไม่ได้ถูกออกหมายจับจากตำรวจแต่อย่างใด จึงยังคงปฏิบัติราชการอยู่ที่กรมราชทัณฑ์
สำหรับการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการนั้น นายสหการณ์ ระบุว่า คณะกรรมการจะดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมให้ครบทุกประเด็น เพราะไม่ได้มองเพียงผู้คุมราชทัณฑ์ที่ได้รับหน้าที่ให้ดูแลผู้ต้องขัง แต่จะต้องตรวจสอบให้ครอบคลุมถึงผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนการรายงานการสอบสวน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ทั้งหมด เพราะอาจเป็นการให้คุณหรือเป็นการชี้ช่องทางต่อผู้ที่มีส่วนกระทำความผิดได้ และคณะกรรมการจะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน อาทิ พยานวัตถุ พยานเอกสาร พยานแวดล้อม พยานบุคคล เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ในการขยายความถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถูกกล่าวหา และบางส่วนอาจจะใช้ในการมัดตัวต่อพฤติการณ์ความผิดที่เจ้าหน้าที่อาจจะเปิดเผยไม่หมดได้ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการจะไม่มีการตัดประเด็นใดที่สังคมเคลือบแคลงใจสงสัยทิ้งไปเด็ดขาด เพราะการสอบสวนในเรื่องของความผิดวินัยร้ายแรงจะเป็นการตรวจสอบรายละเอียดเชิงลึกมากขึ้น
ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รายใดที่เข้าข่ายว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 7 รายที่ให้การช่วยเหลือผู้ต้องขัง หรือพบพยานหลักฐานว่ามีพฤติการณ์ไปติดต่อกับผู้ต้องหาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการหลบหนีของผู้ต้องขัง ก็จะมีความผิดในเรื่องของวินัยร้ายแรงและนำไปสู่การไล่ออกจากราชการ
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม