เช้านี้ที่หมอชิต - เวลา 17.00 น. เมื่อวาน มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร และ สส.พรรคก้าวไกล เพื่อหาข้อสรุปกรณี สส. 2 คน ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ และล่าสุด พรรคก้าวไกล มีมติออกมาแล้ว
มติก้าวไกล ลงดาบ 2 สส. เซ่นปมคุกคามทางเพศ
การประชุมใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อหาข้อสรุปบทลงโทษ สส. ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ 2 กรณี คือ นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี และ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. โดยที่ประชุมฯ เห็นตรงกันว่า ทั้ง 2 กรณี มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศจริง ถือว่าขัดต่อวินัยพรรคขั้นร้ายแรง, ขัดต่ออุดมการณ์และคุณค่าของพรรค โทษสูงสุด คือ ให้พ้นจากสมาชิกพรรค รองลงมา คือ ตัดสิทธิ์พึงมี และคาดโทษ
โดยที่ประชุมฯ มีมติขับ นายวุฒิพงศ์ ออกจากสมาชิกพรรค ส่วน นายไชยามพวาน เสียงส่วนใหญ่ 106 เสียง จาก 128 เสียงที่เข้าประชุมฯ เห็นควรให้ขับออกจากพรรค แต่เพราะเสียงไม่ถึง 3 ใน 4 ของที่ประชุมฯ จึงไม่สามารถมีมติขับพ้นจากสมาชิกพรรค แต่เห็นควรตัดสิทธิ์พึงมีและคาดโทษตลอดสมัยประชุม รวมถึงเห็นว่า นายไชยามพวาน ต้องออกมายอมรับผิด และขอโทษสังคมกับผู้เสียหาย รวมถึงชดเชยเยียวยาตามที่ผู้เสียหายต้องการ หาก นายไชยามพวาน ยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิด ไม่ยินดีขอโทษ หรือไม่เยียวยา ที่ประชุมฯ จะมีมติกันใหม่เพื่อขับออกจากสมาชิกพรรค
สส.ปูอัด พรรคก้าวไกล โค้งขอโทษ ยันไม่ได้คุกคามทางเพศ
ก่อนหน้าที่ประชุมฯ จะมีมตินี้ออกมา นายไชยามพวาน ได้ปรากฏตัวและแถลงต่อสื่อฯ เป็นครั้งแรก โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมโค้งขอโทษที่ไม่ได้ออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่ากลัวจะส่งผลกระทบต่อทีมงานและพรรค อย่างไรก็ตาม นายไชยามพวาน ระบุว่า จะขอไปพิสูจน์ในชั้น กกต. ที่จะมีผู้ไปร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะการเป็นคนกลางอย่าง กกต. ผู้ร้องเรียนจะได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น หากผิด พร้อมจะลาออกจากพรรคก้าวไกล คนตรงกลางเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ก้าวไกล ชี้ช่องใช้สภาฯ ถกยุบ กอ.รมน.
อีกประเด็นที่ต้องตามกันต่อ คือ ท่าทีต่อร่างกฎหมายยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ที่เสนอเข้าสภาโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าไม่ยุบแน่ และถ้าอยากเสนอให้ก้าวไกลเข็นเข้าสภาเอง
ทำให้เมื่อวานนี้ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ออกมาแถลงตอบโต้ โดยระบุว่า การยุบ กอ.รมน. มีเหตุจำเป็นหลายประการ หนึ่งในนั้น คือ ทหารต้องเป็นรั้ว แต่ไม่ใช่เอารั้วมาอยู่ในห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าว หรือแม้กระทั่งในห้องนอน รั้วไม่ควรอยู่ในพื้นที่ของพลเรือน นอกจากนี้ กอ.รมน. ยังมีข้อครหาถึงการใช้งบประมาณที่สูงมาก (10 ปี 2556-2566 รวมกันกว่าแสนล้านบาท แต่ตรวจสอบได้ยาก) อย่างไรก็ตาม ประเด็นการยุบ กอ.รมน. ไม่ใช่ประเด็นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สิ่งสำคัญคือการเปิดโอกาสให้สภาได้ถกเถียง เข้าใจว่าแม้แต่ในพรรคเพื่อไทย อย่างที่ นายอดิศร เพียงเกษ ออกมาทวีต หรือพรรคร่วมรัฐบาล และโดยเฉพาะ สส.ชายแดนใต้ พื้นที่ที่อยู่ในกฎหมายพิเศษ น่าจะเห็นตรงกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งอาจแตกต่างจากนายกรัฐมนตรี จึงควรเปิดโอกาสให้สภาได้ทำหน้าที่
อย่างไรก็ตาม นายรอมฎอน กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีบอกให้ก้าวไกลเข็นกฎหมายเข้าสภานั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกวินิจฉัยโดยประธานสภา ว่าเป็นร่างเกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งตามกฎหมายร่างที่เกี่ยวกับการเงินต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณารับรองก่อนว่าจะนำเข้าสภาหรือไม่ ถ้านายเศรษฐาไม่รับรอง ร่างกฎหมายนี้ก็ตกไป ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภา
เศรษฐา โต้เอาใจทหาร ไม่ยุบทิ้ง กอ.รมน.
ขณะที่ นายเศรษฐา เองก็เจอแรงเสียดทานในเรื่องนี้ไม่น้อยเหมือนกัน เช่นบอกว่า ไม่ยอมยุบเพราะเอาใจทหาร หรือไม่ยอมรับฟังเหตุผล แม้จะมีเสียงค้านออกมามากมาย แม้แต่คนจากเพื่อไทยเอง ทำให้ นายเศรษฐา ออกมารีพลายทวีตโต้เดือด ๆ แบบประเด็นต่อประเด็น ว่าไม่ได้เอาใจทหารครับ เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมก็พูดไปแล้วว่าการทำงานของหน่วยงานนี้จะต้องเน้นเรื่องการพัฒนาไม่ใช่แค่ป้องกันอย่างเดียวตามที่ได้เสนอข่าวไป หรือบอกว่า ไม่เคยไม่รับฟังไม่เคยสนใจ แต่เป็นการเห็นต่างแล้วจะพยายามพัฒนาทุก ๆ องค์กรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานนี้เน้นไปเรื่องการพัฒนาและดูแลพี่น้องประชาชน ทุก ๆ องค์กรก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่การที่โลกเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกองค์กรนั้น ๆ
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35