ยุคนี้ธุรกิจแฟรนไชส์กำลังมาแรง แต่กับเคสนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า หลัง หนุ่มรายหนึ่ง ตกงาน หวังใช้เงินเก็บลงทุน "แฟรนไชส์หม่าล่า" จ่ายครบเหลือรอขาย แต่เจ้าของแฟรนไชส์กลับไม่ส่งของ ให้เพียงเคาน์เตอร์ และป้ายร้าน พร้อมชิ่งหนีเงียบหายไม่คลายปม !
วันที่ 27 ต.ค. 2566 ธีรภัทร แร่อร่าม (ไวไว) ผู้เสียหาย เล่าว่า หลังจากที่ตนตกงาน ได้โพสต์หาแฟรนไชส์ที่น่าลงทุนในเฟซบุ๊ค จนมีชายคนหนึ่งติดต่อเข้ามา อ้างตัวเป็นเจ้าของแฟรนไชส์หม่าล่า และยังอ้างว่ามีหน้าร้านแถวที่อยู่ตน พร้อมเสนอโปรโมชั่นลดราคาให้ ตนเลยสนใจ โดยทางเจ้าของแฟรนไชส์จึงแนะนำชุดโปรโมชั่น 9.9 พันบาท และลดให้เหลือ 8.9 พันบาท วันที่ 28 ก.ย. 2566 จึงได้ทำสัญญา และได้ชำระเงินค่าเฟรนไชส์ จากนั้นตัดสินใจเปิดร้านวันที่ 2 ต.ค. 2566 โดยสั่งของสดจากเจ้าของแฟรนไชส์ไปอีก 2,030 บาท โดยเจ้าตัวอ้างว่าส่งของทันวันขายแน่นอน
พอถึงวันที่ 2 ต.ค. เจ้าของแฟรนไชส์ก็มาขอเลื่อนส่งของ อ้าง โรงงานทำเคาน์เตอร์ไม่ทัน เลื่อนไปวันที่ 4 ต.ค. แต่ตนกลับมาได้เคาน์เตอร์วันที่ 5 ต.ค. ได้พร้อมกับไวนิล 1 แผ่น แต่ของสดและอุปกรณ์อื่น ๆ ยังไม่ได้ อ้างว่าลูกน้องจะตามมาส่ง แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรมาส่ง ส่วนตัวเขาก็อ้างว่าจะไปตามของจากลูกน้องแล้วก็หายไปเลย เมื่อติดต่อเขาไปเขาก็อ้างบ่ายเบี่ยงไปเรื่อย อ้างรถชนบ้าง เปลี่ยนโทรศัพท์บ้าง จนติดต่อไม่ได้ในที่สุด ตนได้ติดตามไปยังบ้านของเจ้าของแฟรนไชส์ ก็เจอแต่ครอบครัวเขา ซึ่งเขาจะชดเชยให้หม่าล่ามาให้ตนไปนั่งขายฟรีตามจำนวนค่าเสียหาย แต่ตนไม่อยากได้แล้ว อยากได้เงินสดคืน ตนเจอเรื่องราวแบบนี้ไปมันทำให้เจ็บปวดมาก แต่ตนต้องไปต่อ จึงนำเคาน์เตอร์ร้านที่ได้จากเจ้าของแฟรนไชส์มาเปิดร้านยำขาย โดยเขียนป้ายแปะใหม่ว่า "ยำโดนโกง"
ด้าน อาราฟัด พี่ของผู้เสียหาย เผยว่า ตนได้คุยกับครอบครัวเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งเขาได้หลุดพูดมาว่าของต่าง ๆ ที่ยังไม่มาส่ง เขาจะตรวจสอบให้ว่ามันถึงไหนแล้ว โดยเขาพูดว่าจะเข็กในแอปฯช้อปปิ้งออนไลน์แห่งหนึ่ง ซึ่งการซื้อของในแอปฯออนไลน์มันก็ทำให้การส่งของมันคลาดเคลื่อน ทำไมเขาถึงไม่จัดการซื้อผ่านห้างสรรพสินค้า
ฟาก สงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า พฤติการณ์ของเจ้าของแฟรนไชส์ในเคสนี้ เข้าข่ายมีความผิดเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.คอมฯ เนื่องจากมีการส่งข้อมูลเท็จ บิดเบือนผ่านทางเฟซบุ๊ก และแอปฯไลน์ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าฝั่งเจ้าของแฟรนไชส์อาจจะรู้กฎหมายก็ได้ ซึ่งคดีฉ้อโกงถ้าพ้นอายุความ 3 เดือน มันจะไม่เป็นความผิดอาญา เขาถึงได้ประวิงเวลาเอาไว้ ตนแนะนำว่าให้เร่งรีบดำเนินคดีอาญา
กราฟ ผู้เสียหาย เผยว่า ในกรณีของตนเกิดขึ้นช่วงเดือน มิ.ย. 2566 ตนได้โพสต์หาตู้เคาน์เตอร์ขายของมือ 2 ด้วยงบไม่เกิน 2 หมื่น โดยเจ้าของแฟรนไชส์ได้ติดต่อเข้ามา และตกลงราคากันได้ที่ 2 หมื่นบาท จากนั้นเขาให้ตนโอนเงินมัดจำ 1.2 หมื่น และให้โอนเพิ่มอีก 1 พันบาท นัดรับกันวันที่ 19 ก.ค. 2566 ซึ่งพอถึงวันนัดรับเขาก็ขอเลื่อน ก่อนจะบอกว่าส่งของไม่ทัน อ้างหลังคาเคาน์เตอร์ถล่ม เขาจะโอนรเงินคืนให้ แต่จนถึงวันนี้ตนได้เงินกลับคืนแค่ 5 พันบาท อีกทั้งรูปที่เขานำมาให้ตนดูว่าเป็นเคานต์เตอร์ของตน มันก็เป็นรูปเก่าเขาในเฟซบุ๊ก
ทั้งนี้ทางทีมงานรายการถกไม่เถียงได้ติดต่อไปยัง สน.ราษฎร์บูรณะ เพื่อสอบถามความคืบหน้าคดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ร้อยเวรได้ให้ข้อมูลว่า ทางตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ ตอนนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานทั้งหมด ยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ขณะเดียวกัน ทีมงานรายการ ก็ได้ติดต่อไปยังเจ้าของแฟรนไชส์รายดังกล่าว โดยเจ้าของแฟรนไชส์ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ตัวเขาเองอยากมาออกรายการมากเพื่อชี้แจงด้วยตัวเอง แต่ทางทนายเขาไม่ให้มาออก
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35